17 กุมภาพันธ์ 2553

สมุนไพรกระถาง ตู้ยามีชีวิต

สมุนไพรกระถาง ตู้ยามีชีวิต

 

          การปลูกสมุนไพรกระถางในครัวเรือน  มีประโยชน์ในฐานะที่เป็นตู้ยาประจำบ้านที่มีไว้รักษาโรคภัยไข้เจ็บ  ตัวเราและสมาชิกในครอบครัวนะครับ...  และยังเป็นตู้ยาที่มีชีวิต  ที่นอกจากทำหน้าที่ให้ยารักษาโรคแล้ว  พืชสมุนไพรกระถางหลายตัวยังเป็นส่วนประกอบอาหารในชีวิตประจำวัน  ใช้เป็นอาหารและเครื่องดื่มเพื่อบำรุงสุขภาพ  สมุนไพรหลายตัวที่ปลูกในกระถาง  ยังมีลักษณะที่สวยงามไม่แพ้ไม้ดอกไม้ประดับ  สมุนไพรกระถางบางตัวยังให้กลิ่นหอม  เช่น  ตะไคร้หอม  ซึ่งกลิ่นหอมนี้ช่วยไล่ยุงได้อย่างดี

           การปลูกสมุนไพรในกระถางไม่ใช่เรื่องยากเลยนะครับ   เนื่องจากพืชที่นำมาปลูกส่วนใหญ่เป็นพืชพื้นบ้านของไทย  จึงปลูกง่าย  เลี้ยงง่าย  แข็งแรง  ไม่ค่อยมีปัญหาโรคและแมลงรบกวน
          ปัจจัยที่ต้องคำนึงถึงในการปลูกสมุนไพรในกระถาง  ดังนี้นะครับ...
          ชนิดและสรรพคุณของสมุนไพร  ควรพิจารณาเฉพาะสมุนไพรที่สามารถนำมารักษาโรคสามัญทั่วๆ ไป เช่น  เป็นไข้  เป็นหวัด  ปวดหัว  ตัวร้อน  ท้องเสีย  ท้องอืด  ท้องเฟ้อ  ปวดเมื่อย  เคล็ดขัดยอก  แมลงสัตว์กัดต่อย  ฟกช้ำ  แผลสด  แผลเปื่อย  ไฟไหม้  น้ำร้อนลวก  ภูมิแพ้  แก้ริดสีดวงทวาร เป็นต้น  ดังนั้นเราควรรู้ว่าสมุนไพรชนิดใด  มีสรรพคุณอย่างไร

           ลักษณะของสมุนไพร  โดยทั่วไปมักจะเป็นพืชล้มลุก  พืชเลื้อยพันและพืชยืนต้นขนาดเล็ก  สมุนไพรที่เป็นพืชล้มลุก (มักเป็นผักสวนครัวด้วย)  เช่น  สะระแหน่  ไพล  เตยหอม  ช้าพลูก  ตะไคร้  หญ้าหนวดแมว  ขิง  ว่านหางจระเข้  ขมิ้นชัน  ฟ้าทะลายโจร  กะเพรา  บัวบก  มะระขี้นก  ตำลึง เป็นต้น พืชเหล่านี้จำเป็นต้องดูแล  โดยเฉพาะในการขยายพันธุ์ใหม่เมื่อต้นเดิมล้ม  ซึ่งแตกต่างจากพันธุ์ไม้เลื้อย พืชยืนต้นขนาดเล็ก  ที่เมื่อปลูกแล้วก็จะเจริญเติบโตงอกงามไปเรื่อย  พันธุ์ไม้เลื้อยที่ปลูกในกระถาง  เช่น เพชรสังฆาต  บอระเพ็ด  รางจืดเป็นต้น  พืชยืนต้นขนาดเล็ก  เช่น  เสลดพังพอน  หนุมานประสานกาย  เป็นต้น

          กระถางหรือภาชนะที่จะใช้ปลูก  ควรพิจารณาจากลักษณะของสมุนไพรแต่ละชนิด  เช่น  ระบบรากของพืช  ถ้าเป็นพืชล้มลุก  ส่วนใหญ่จะมีระบบรากตื้น  ทำให้ไม่จำเป็นต้องใช้กระถางใหญ่มากนัก  แต่ถ้าเป็นพืชล้มลุกประเภทหัว  เช่น  ขิง  ข่าง  ขมิ้นชัน  ไพล  ก็ต้องใช้กระถางที่มีความลึกมากพอที่จะให้หัวหรือเหง้าของพืชเจริญเติบโตงอกงามไปได้  ถ้าเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก  คงจำเป็นต้องใช้กระถางใบใหญ่สักหน่อย  เพราะจะมีระบบรากที่ลึกและมีลักษณะทรงพุ่มของต้นไม้ที่ใหญ่  ส่วนไม้เลื้อยพันบางชนิดก็เลื้อยไปตามดิน  เช่น  บัวบก  แต่มีระบบรากตื้น  ก็ควรใช้กระถางที่ไม่ลึกแต่ปากกว้าง  ซึ่งจะใช้วางกับพื้นหรือแขวนก็ได้  แต่ไม้เลื้อยพันส่วนใหญ่ที่จะนำมาปลูกในกระถางจำเป็นต้องมีที่ให้ต้นไม้เลื้อย  เช่น  ใช้ไม้ไผ่ผ่าซีก 3 - 4 อัน  ที่มีความสูงท่วมหัว  ปักในกระถางผูกปลายบนเข้าหากันหรือวางพิงกับข้างรั้วให้พืชได้เลื้อยพัน  ดังนั้น กระถางที่ใช้ก็ควรใช้ที่มีขนาดใหญ่พอที่จะรองรับไม้ และการเลื้อยพันของกิ่งก้านสาขาของต้นไม้เมื่อเจริญเติมโตขึ้น
          การดูแล  การให้น้ำพืชสมุนไพรในกระถางนั้น  รดน้ำอย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง หากไม่มีเวลารดน้ำทุกวัน  ก็ให้หาจานรองกระถางมารองกระถาง  แล้วหล่อน้ำไว้จะช่วยให้ดินดูดน้ำจากจานรองกระถาง  ซึ่งจะอยู่ได้ 2 - 3 วันหรือเป็นสัปดาห์  พืชบางชนิดต้องระวังไม่ให้มีน้ำขังเพราะรากจะเน่าได้  เช่น ขมิ้นชัน  ขิง  ว่ายหางจระเข้ ไพล เป็นต้น
           การให้ปุ๋ยบำรุงดิน  ควรใช้ปุ๋ยหมัก  ปุ๋ยหมักชีวภาพหรือปุ๋ยคอก  การให้ปุ๋ยหลังจากปลูกครั้งแรกแล้ว  ทุก ๆ 1 - 2 เดือน หรือสังเกตว่าพืชเริ่มไม่เจริญงอกงาม  ให้ปุ๋ยโดยโรยปุ๋ยรอบโคนต้นพืช
           พืชสมุนไพรเป็นพืชที่แข็งแรง  ทนทานต่อโรคและแมลง  ไม่ค่อยมีโรคและแมลงรบกวนมากนัก  แต่หากยังมีแมลงมารบกวนก็ให้ใช้วิธีธรรมชาติ  เช่น  ใช้สบู่ละลายน้ำฉีดพ่นเพื่อกำจัดเพลี้ย  ใช้ใบสะเดา  ข่า ตะไคร้หอม  หมักผสมน้ำ  ฉีดพ่นป้องกันแมลงศัตรูพืชต่าง ๆ แต่หากพบว่าเชื้อรามากก็ควรเปลี่ยนวัสดุปลูกใหม่  เปลี่ยนกระถางใหม่นะครับ...
           วันนี้พอหอมปากหอมคอนะครับ... คราวหน้าจะมานำเสนอ "โรคสามัญกับยาสมุนไพรประจำบ้าน"  กันต่อนะครับ...

ที่มา : สำนักพิมพ์เกษตรกรรมธรรมชาติ. คู่มือพึ่งตนเอง(ฉบับกระเป๋า).กรุงเทพฯ : รุ่งเรืองสาส์นการพิมพ์. 2547.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น