20 กุมภาพันธ์ 2553

วิธีการปรุงยาสมุนไพร

วิธีการปรุงยาสมุนไพร 
          สมุนไพร นอกจากเราจะสามารถใช้สดๆ กินสดๆ หรือกินเป็นอาหารแล้ว ยังมีวิธีการปรุงยาสมุนไพรมากมายหลายวิธีเพื่อให้ได้สมุนไพรในรูปแบบที่เหมาะสมมีประสิทธิภาพในการรักษาโรค ใช้ได้สะดวก มีรสและกลิ่นที่ชวนกิน อีกทั้งยังสามารถพกพาได้สะดวกและเก็บไว้ได้นาน
          การใช้สมุนไพรในการรักษาโรคต่างๆ นั้นก็ไม่ต่างกัน ยาถึงจะมีสรรพคุณดีแค่ไหน ถ้าปรุงไม่เป็นใช้ไม่ถูกวิธีก็อย่าหวังจะได้ยาดี นักนิยมสมุนไพรทั้งหลายจึงควรมีความรู้ขั้นพื้นฐานในการปรุงยากันไว้บ้างนะครับ...
  • การชง (Infusion)
          การชงเป็นวิธีพื้นฐานและง่ายสำหรับการปรุงยาสมุนไพร  มีวิธีการเตรียมเหมือนกับการชงชา  โดยใช้น้ำเดือดเทลงไปในสมุนไพร  ใช้ได้ทั้งสมุนไพรสดและแห้ง  แต่มักใช้สมุนไพรตากแห้งทำยาชงหรือบดเป็นผงชงกับน้ำร้อนก็ได้  ภาชนะที่ใช้ชงยาควรเป็นกระเบื้องแก้วหรือภาชนะเคลือบ  ไม่ควรใช้ภาชนะโลหะ  ควรชงยาสมุนไพรสดใช้ในแต่ละวัน ชงแล้วดื่มทันที  ไม่ทิ้งไว้นานดื่มวันละ 3  ครั้ง  ดื่มร้อนหรือเย็นก็ได้  สมุนไพรบางชนิดที่มีสรรพคุณไม่รุนแรง  ใช้ดื่มแทนน้ำได้  เช่น ขิง  มะตูม  เก๊กฮวย  เป็นต้น
    • ใส่สมุนไพรลงในกาหรือหม้อชงยา  1  ส่วน  เติมน้ำเดือด  10  ส่วน  ปิดฝาทิ้งไว้  10  นาที
    • รินยาผ่านตะแกรงหรือผ้าขาวบางลงถ้วย  เพื่อกรองเศษสมุนไพรที่ติดมากับน้ำยา  แล้วนำไปดื่มได้  เก็บส่วนที่เหลือไว้ในเหยือก  แช่ไว้ในตู้เย็นไว้ใช้ดื่มในมื้อต่อไป
  • การต้ม (Decoction)
          การต้มเป็นวิธีการที่สกัดตัวยาสมุนไพรได้ดีกว่าการชง  โดยใช้สมุนไพรสดหรือแห้งต้มรวมกับน้ำ  มักใช้รากไม้  เปลือกไม้  กิ่งก้าน เมล็ดหรือผลบางชนิด
          วิธีการเตรียมทำโดยการหั่นหรือสับสมุนไพรเป็นชิ้นเล็ก ๆ ใส่ลงในหม้อต้ม  แล้วใส่น้ำลงไปให้ท่วมยาเล็กน้อย  ใช้ไฟขนาดปานกลางต้มจนเดือด  แล้วจึงลดไฟให้อ่อน  ควรคนยาเรื่อยๆ เพื่อไม่ให้ยาไหม้  ตามตำราไทยมักจะต้มแบบ  3  เอา 1  คือใส่น้ำ 3 ส่วนของปริมาณที่จะใช้  แล้วต้มให้เหลือ  1  ส่วน  แต่บางตำราก็ต้มแบบ  3  เอา 2 เช่นเดียวกับวิธีการชง  ควรทำสดๆ ใช้ในแต่ละวัน  ไม่ควรทำทิ้งไว้ข้ามคืน ดื่มว้นละ 3  ครั้ง  ร้อนหรือเย็นก็ได้
    • ใส่สมุนไพรลงในหม้อต้ม  ใส่น้ำให้ท่วมสมุนไพร  ต้มด้วยไฟปานกลางจนเดือดแล้วจึงหรี่ไฟอ่อน  ต้มต่อไปจนเหลือน้ำ 1 ใน 3
    • รินยาผ่านตะแกรงหรือผ้าขาวบางลงในถ้วยหรือเหยือก  แล้วนำไปดื่มได้ ที่เหลือไว้ในตู้เย็นใช้ดื่มในมื้อต่อไป
  • การดอง (Tincture)
          การดองด้วยเหล้าหรือแอลกอฮอล์นี้  เป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพในการสกัดตัวยาออกจากพืชสมุนไพร  โดยการแช่สมุนไพรสดหรือแห้งในเหล้าหรือแอลกอฮอล์  เหมาะสำหรับสมุนไพรที่มีสารออกฤทธิ์ที่ละลายน้ำได้น้อย  ใช้ได้กับทุกส่วนของสมุนไพร  เหล้าหรือแอลกอฮอล์ที่ใช้ในการดอง  นอกจากจะทำหน้าที่สกัดยาจากสมุนไพร  แล้วยังทำหน้าที่เป็นตัวกันบูดอีกด้วย  ยาดองจึงเก็บไว้ใช้ได้นานเป็นปีเลยที่เดียว
          ตามตำราไทยมักจะใช้เหล้าขาว 28 - 40 ดีกรี  นอกจากใช้เหล้า และเอทิลแอลกอฮอล์แล้ว  ยังสามารถใช้น้ำหมักจากผลไม้  หรือน้ำส้มสายชูในการดองยาก็ได้  แต่จะสกัดตัวยาได้ไม่ดีเท่าเหล้าหรือแอลกอฮอล์  อายะเก็บรักษาก็สั้นกว่า  แต่ราคาจะถูกกว่า  วิธีการดอง  อาจจะใส่สมุนไพรดองในเหล้าโดยตรง  หรืออาจห่อสมุนไพรด้วยผ้าขาวบางแล้วดองในเหล้าตามวิธีตำราไทยก็ได้
 
    • ห่อสมุนไพรด้วยผ้าขาวบางอย่างหลวมๆ เผื่อไว้หากยาพองตัวเวลาอมน้ำ  ใส่ลองในขวดโหลแก้ว  หรือโถกระเบื้อง  เทเหล้าใส่ท่วมห่อยา  ปิดฝาให้สนิท  ตั้งทิ้งไว้อย่างน้อย 1 - 2 สัปดาห์  และต้องเปิดฝาคนให้ทั่ว  วันละ 1 ครั้ง
    • เมื่อดองครบกำหนดแล้ว  เทยาดองใส่ขวด หรือภาชนะสีทึบ  บีบยาดองออกจากห่อผ้าขาวบางให้หมด  ปิดฝาให้สนิท
  • ผง แคปซูล และลูกกลอน
    • สมุนไพรที่จะนำมาบดเป็นผงจะต้องตากให้แห้งสนิท  แล้วจึงนำมาบดเป็นผงด้วยการตำหรืเครื่องบดยา  และต้องบดให้ละเอียดเป็นผง  ใช้ชงน้ำดื่มหรือโรยผสมลงในอาหาร
    • แคปซูล  การบรรจะแคปซูลก็ให้ซื้อแคปซูลเปล่าสำเร็จรูปมา  เทผงสมุนไพรลงในชามแก้วปากกว้าง  ดึงแคปซูลออก  2  ส่วน  จับทั้ง  2  ข้างเข้าหากันผ่านผงยา  แล้วจึงสวมแคปซูลเข้าด้วยกันหรือบรรจุผงยาด้วยเครื่องบรรจุแคปซูลก็ได้
    • ยาลูกกลอน  เอาผงสมุไนไพรใสชามปากกว้าง  เติมน้ำผึ้งทีละน้อย  นวดให้เข้ากันจนผงยาทั้งหมดเกาะกัน  ไม่เหนียวติดมือ  ให้สังเกตปริมาณน้ำผึ้งที่ใช้  โดยปั้นลูกกลอนด้วยมือ  ถ้าเละติดมือ  ปั้นไม่ได้ แสดงว่าน้ำผึ้งมากไป  ให้เติมผงยาเพิ่ม  แต่ถ้าแห้งร่อนไม่เกาะกัน  ปั้นไม่ได้ หรือปั้นได้แต่เมื่อบีบเบาๆ จะแตกร่วน  แสดงว่าน้ำผึ้งน้อยไป  ให้เติมน้ำผึ้งอีก   เมื่อนวดผงยาได้ที่แล้ว  ทำเป็นลูกกลอนได้  2  วิธี คือ การใช้เครื่อง และการใช้มือคลึง  โดยคลึงเป็นเส้นยาวๆ ก่อน  แล้วจึงเด็ดเป็นท่อน ๆ นำมาคลึงด้ว้ยมือจนกลม  ใส่ถาดหรือกระจาดไปอบหรือตากแดด  แล้วจึงนำมาบรรจุขวดหรือภาชนะที่มีฝาปิด

ที่มา : สำนักพิมพ์เกษตรกรรมธรรมชาติ. คู่มือพึ่งตนเอง(ฉบับกระเป๋า).กรุงเทพฯ : รุ่งเรืองสาส์นการพิมพ์. 2547.

โรคสามัญกับยาสมุนไพรประจำบ้าน

โรคสามัญกับยาสมุนไพรประจำบ้าน
     
        สวัสดีครับ... วันนี้เรามาทำความรู้จักกับการใช้สมุนไพรในการรักษาโรคสามัญกันนะครับ...
  • โรคกระเพาะอาหาร 
    • ขมิ้นชัน  ใช้เหง้าแก่บดเป็นผง  ปั้นเป็นลูกกลอนหรือบรรจุแคปซูล ทานครั้งละ  500  มิลลิกรัม วันละ  4  ครั้ง
  • อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ แน่นจุกเสียด
    • ขมิ้นชัน  ใช้ขมิ้นชันตากแห้ง  บดเป็นผง  ปั้นเป็นลูกกลอนทานครั้งละ  2 - 3 เมตร  วันละ  4  ครั้ง หรือบรรจุแคปซูล  250  มิลลิกรัม  ทานครั้งละ  2  เม็ด วันละ  4  ครั้ง
    • ขิง  ใช้เหง้าแก่ขนาดหัวแม่มือ  ทุบให้แตก  ต้มน้ำดื่ม 
    • กานพลู  ใช้ดอกแห้ง 5 - 8 ดอก ต้มหรือบดเป็นผงชงน้ำดื่ม
    • กระเทียม  ทานกระเทียมสด 5 - 7 กลีบหลังอาหาร
  • ท้องผูก
    • แมงลัก  ใช้เม็ดแมงลัก 1 - 2 ช้อนชา  แช่น้ำอุ่น  1  แก้ว  จนพองเต็มที่  ทานก่อนนอน
  • อาการท้องเสีย
    • ฝรั่ง  ใช้ใบแก่  10 - 15  ใบ  ปิ้งไฟ ชงน้ำดื่ม
    • ฟ้าทะลายโจร  บดใบแห้งเป็นผง  ปั้นลูกกลอน  ทานครั้งละ  1.5  กรัม  วันละ  4  ครั้ง หรือดองเหล้า  7 วัน กรองเอาน้ำดื่ม
  • อาการคลื่นไส้  อาเจียน
    • ขิง  ใช้เหง้าสดขนาดหัวแม่มือ  ทุบให้แตกต้มน้ำดื่ม
  • อาการไอ ระคายคอจากเสมหะ 
    • ใช้ขิงแก่ฝนกับน้ำมะนาว หรือคั้นน้ำผสมเกลือจิบบ่อย ๆ
  • อาการขัดเบา
    • ตะไคร้  ใช้ต้นแก่ซอยเป็นแว่น 1 กำมือ  ต้มน้ำดื่มวันละ  3  ครั้ง ๆ ละ 1 ถ้วยชา
  • แผลไฟไหม้  น้ำร้อนลวก
    • บัวบก  เอาใบสดตำคั้นน้ำ  ชโลมแผลให้ชุ่มแล้วทาต่อวันละ 4 ครั้ง
  • อาการแพ้จากแมลงสัตว์กัดต่อย
    • ตำลึง  นำใบสด  1  กำมือตำแล้วพอกไว้
    • เสลดพังพอน  นำใบสด 1 กำมือตำแล้วพอกไว้
  • ลมพิษ
    • พลู  นำใบสด 1 - 2 ใบ ตำผสมกับเหล้าขาวทา
  • อาการเคล็ดขัดยอก
    • ไพล  นำไพล  2 กิโลกรัม  ทอดในน้ำมันพืช 1 กิโลกรัม  แล้วเอาไพลออก  ใส่กานพลูผงลงไปอีก  4  ช้อนชา  ทอดต่อ  10  นาที  กรองแล้วรอจนอุ่นใส่การบูรลงไป  4  ช้อนชา  ทานวดเช้าเย็นหรือเวลาปวด
  • ไข้
    • ฟ้าทะลายโจร  นำใบแห้งบดละเอียด  ทำเป็นลูกกลอน  ทานครั้งละ  1.5 กรัม วันละ  4  ครั้ง หรือดองเหล้า  7  วัน  ทานครั้งละ  1 - 2 ช้อนโต๊ะ วันละ 3 - 4 ครั้งก่อนอาหาร
    • บอระเพ็ด  นำต้นสด  40 กรัม  ตำคั้นเอาน้ำดื่มหรือต้มกับน้ำ 3 ส่วน  เคี่ยวเหลือ 1 ส่วน  ทานเช้าเย็น

          ประเทศไทยได้มีการนำสมุนไพรมาใช้ในการบำบัดรักษาความเจ็บป่วยมาแต่โบราณกาลซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ผู้คนในสมัยก่อนสามารถดำรงอยู่ได้ แม้จะไม่มียาแผนปัจจุบันใช้เลยก็ตาม ความรู้ในการใช้สมุนไพรได้สั่งสมต่อเนื่องกันมาช้านานในลักษณะของภูมิปัญญาไทยและภูมิปัญญาท้องถิ่น ซึ่งมีความแตกต่างกันไปบ้างในแต่ละภูมิภาค เราในฐานะลูกหลานควรหันมาสนใจและร่วมกันอนุรักษ์ภูมิปัญญานี้ไว้......
ที่มา : สำนักพิมพ์เกษตรกรรมธรรมชาติ. คู่มือพึ่งตนเอง(ฉบับกระเป๋า).กรุงเทพฯ : รุ่งเรืองสาส์นการพิมพ์. 2547.



  

17 กุมภาพันธ์ 2553

สมุนไพรกระถาง ตู้ยามีชีวิต

สมุนไพรกระถาง ตู้ยามีชีวิต

 

          การปลูกสมุนไพรกระถางในครัวเรือน  มีประโยชน์ในฐานะที่เป็นตู้ยาประจำบ้านที่มีไว้รักษาโรคภัยไข้เจ็บ  ตัวเราและสมาชิกในครอบครัวนะครับ...  และยังเป็นตู้ยาที่มีชีวิต  ที่นอกจากทำหน้าที่ให้ยารักษาโรคแล้ว  พืชสมุนไพรกระถางหลายตัวยังเป็นส่วนประกอบอาหารในชีวิตประจำวัน  ใช้เป็นอาหารและเครื่องดื่มเพื่อบำรุงสุขภาพ  สมุนไพรหลายตัวที่ปลูกในกระถาง  ยังมีลักษณะที่สวยงามไม่แพ้ไม้ดอกไม้ประดับ  สมุนไพรกระถางบางตัวยังให้กลิ่นหอม  เช่น  ตะไคร้หอม  ซึ่งกลิ่นหอมนี้ช่วยไล่ยุงได้อย่างดี

           การปลูกสมุนไพรในกระถางไม่ใช่เรื่องยากเลยนะครับ   เนื่องจากพืชที่นำมาปลูกส่วนใหญ่เป็นพืชพื้นบ้านของไทย  จึงปลูกง่าย  เลี้ยงง่าย  แข็งแรง  ไม่ค่อยมีปัญหาโรคและแมลงรบกวน
          ปัจจัยที่ต้องคำนึงถึงในการปลูกสมุนไพรในกระถาง  ดังนี้นะครับ...
          ชนิดและสรรพคุณของสมุนไพร  ควรพิจารณาเฉพาะสมุนไพรที่สามารถนำมารักษาโรคสามัญทั่วๆ ไป เช่น  เป็นไข้  เป็นหวัด  ปวดหัว  ตัวร้อน  ท้องเสีย  ท้องอืด  ท้องเฟ้อ  ปวดเมื่อย  เคล็ดขัดยอก  แมลงสัตว์กัดต่อย  ฟกช้ำ  แผลสด  แผลเปื่อย  ไฟไหม้  น้ำร้อนลวก  ภูมิแพ้  แก้ริดสีดวงทวาร เป็นต้น  ดังนั้นเราควรรู้ว่าสมุนไพรชนิดใด  มีสรรพคุณอย่างไร

           ลักษณะของสมุนไพร  โดยทั่วไปมักจะเป็นพืชล้มลุก  พืชเลื้อยพันและพืชยืนต้นขนาดเล็ก  สมุนไพรที่เป็นพืชล้มลุก (มักเป็นผักสวนครัวด้วย)  เช่น  สะระแหน่  ไพล  เตยหอม  ช้าพลูก  ตะไคร้  หญ้าหนวดแมว  ขิง  ว่านหางจระเข้  ขมิ้นชัน  ฟ้าทะลายโจร  กะเพรา  บัวบก  มะระขี้นก  ตำลึง เป็นต้น พืชเหล่านี้จำเป็นต้องดูแล  โดยเฉพาะในการขยายพันธุ์ใหม่เมื่อต้นเดิมล้ม  ซึ่งแตกต่างจากพันธุ์ไม้เลื้อย พืชยืนต้นขนาดเล็ก  ที่เมื่อปลูกแล้วก็จะเจริญเติบโตงอกงามไปเรื่อย  พันธุ์ไม้เลื้อยที่ปลูกในกระถาง  เช่น เพชรสังฆาต  บอระเพ็ด  รางจืดเป็นต้น  พืชยืนต้นขนาดเล็ก  เช่น  เสลดพังพอน  หนุมานประสานกาย  เป็นต้น

          กระถางหรือภาชนะที่จะใช้ปลูก  ควรพิจารณาจากลักษณะของสมุนไพรแต่ละชนิด  เช่น  ระบบรากของพืช  ถ้าเป็นพืชล้มลุก  ส่วนใหญ่จะมีระบบรากตื้น  ทำให้ไม่จำเป็นต้องใช้กระถางใหญ่มากนัก  แต่ถ้าเป็นพืชล้มลุกประเภทหัว  เช่น  ขิง  ข่าง  ขมิ้นชัน  ไพล  ก็ต้องใช้กระถางที่มีความลึกมากพอที่จะให้หัวหรือเหง้าของพืชเจริญเติบโตงอกงามไปได้  ถ้าเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก  คงจำเป็นต้องใช้กระถางใบใหญ่สักหน่อย  เพราะจะมีระบบรากที่ลึกและมีลักษณะทรงพุ่มของต้นไม้ที่ใหญ่  ส่วนไม้เลื้อยพันบางชนิดก็เลื้อยไปตามดิน  เช่น  บัวบก  แต่มีระบบรากตื้น  ก็ควรใช้กระถางที่ไม่ลึกแต่ปากกว้าง  ซึ่งจะใช้วางกับพื้นหรือแขวนก็ได้  แต่ไม้เลื้อยพันส่วนใหญ่ที่จะนำมาปลูกในกระถางจำเป็นต้องมีที่ให้ต้นไม้เลื้อย  เช่น  ใช้ไม้ไผ่ผ่าซีก 3 - 4 อัน  ที่มีความสูงท่วมหัว  ปักในกระถางผูกปลายบนเข้าหากันหรือวางพิงกับข้างรั้วให้พืชได้เลื้อยพัน  ดังนั้น กระถางที่ใช้ก็ควรใช้ที่มีขนาดใหญ่พอที่จะรองรับไม้ และการเลื้อยพันของกิ่งก้านสาขาของต้นไม้เมื่อเจริญเติมโตขึ้น
          การดูแล  การให้น้ำพืชสมุนไพรในกระถางนั้น  รดน้ำอย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง หากไม่มีเวลารดน้ำทุกวัน  ก็ให้หาจานรองกระถางมารองกระถาง  แล้วหล่อน้ำไว้จะช่วยให้ดินดูดน้ำจากจานรองกระถาง  ซึ่งจะอยู่ได้ 2 - 3 วันหรือเป็นสัปดาห์  พืชบางชนิดต้องระวังไม่ให้มีน้ำขังเพราะรากจะเน่าได้  เช่น ขมิ้นชัน  ขิง  ว่ายหางจระเข้ ไพล เป็นต้น
           การให้ปุ๋ยบำรุงดิน  ควรใช้ปุ๋ยหมัก  ปุ๋ยหมักชีวภาพหรือปุ๋ยคอก  การให้ปุ๋ยหลังจากปลูกครั้งแรกแล้ว  ทุก ๆ 1 - 2 เดือน หรือสังเกตว่าพืชเริ่มไม่เจริญงอกงาม  ให้ปุ๋ยโดยโรยปุ๋ยรอบโคนต้นพืช
           พืชสมุนไพรเป็นพืชที่แข็งแรง  ทนทานต่อโรคและแมลง  ไม่ค่อยมีโรคและแมลงรบกวนมากนัก  แต่หากยังมีแมลงมารบกวนก็ให้ใช้วิธีธรรมชาติ  เช่น  ใช้สบู่ละลายน้ำฉีดพ่นเพื่อกำจัดเพลี้ย  ใช้ใบสะเดา  ข่า ตะไคร้หอม  หมักผสมน้ำ  ฉีดพ่นป้องกันแมลงศัตรูพืชต่าง ๆ แต่หากพบว่าเชื้อรามากก็ควรเปลี่ยนวัสดุปลูกใหม่  เปลี่ยนกระถางใหม่นะครับ...
           วันนี้พอหอมปากหอมคอนะครับ... คราวหน้าจะมานำเสนอ "โรคสามัญกับยาสมุนไพรประจำบ้าน"  กันต่อนะครับ...

ที่มา : สำนักพิมพ์เกษตรกรรมธรรมชาติ. คู่มือพึ่งตนเอง(ฉบับกระเป๋า).กรุงเทพฯ : รุ่งเรืองสาส์นการพิมพ์. 2547.

15 กุมภาพันธ์ 2553

บ้านสะอาดได้ด้วยวิธีธรรมชาติ

บ้านสะอาดได้ด้วยวิธีธรรมชาติ
        
          สวัสดีครับ...วันนี้ผมนำทางเลือกที่ช่วยให้บ้านสะอาดด้วยวิธีธรรมชาติหลากหลายวิธี  ที่สามารถนำมาใช้ทำความสะอาดบ้านเรือน  โดยหลีกเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของสารเคมี  ที่เป็นพิษต่อตัวเราและครอบครัว
          หลักการเบื้องต้นวิธีการทำความสะอาดด้วยวิธีทางธรรมชาติ  ต้องแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ  เช่น  หมั่นทำความสะอาดบ้านเรือน  จัดข้าวของเครื่องใช้ให้เป็นระเบียบเรียบร้อย  ไม่หใกหมมจนเป็นบ่อเกิดของยุง  มด  แมลงสาบ  กลิ่นอับชื้น  และเชื้อโรคต่าง ๆ หมั่นเปิดประตูหน้าต่างให้แสงแดดส่องและอากาศถ่ายเทเข้าไปในห้องต่าง ๆ อย่างสม่ำเสมอ  ถ้าสามารถปฏิบัติในขั้นพื้นฐานได้แล้วก็มั่นใจได้ระดับหนึ่งว่าเราจะสามารถลดการใช้สารเคมีในการทำความสะอาดไปได้พอสมควร
          แต่เมื่อจำเป็นต้องใช้เครื่องช่วยทำความสะอาด  ก็หันมาหาสารหรือวัสดุจากธรรมชาติช่วยทำความสะอาด  ซึ่งการใช้สารหรือวัสดุจากธรรมชาตินี้อาจจะไม่ออกฤทธิ์ในทันทีทันใด  และมีฤทธิ์อยู่ไม่นานเหมือนกับการใช้สารเคมี  จึงอาจจำเป็นต้องใช้ในปริมาณมากและต้องทำบ่อย ๆ

10  วิธีการทำความสะอาดด้วยวิธีธรรมชาติ
   1.  การทำความสะอาดทั่วไป
  • ผสมสบู่เหลว หรือบอแรกซ์  1  ช้อนชา ในน้ำอุ่นหรือน้ำร้อน  1  ลิตร  เติมน้ำมะนาว หรือน้ำส้มสายชูลงไป 1 - 2 ช้อนชา  เช็ดถูบริเวณที่มีคาบไขมันสกปรก
   2.  กำจัดกลิ่นเหม็น กลิ่นอับ
  • ใช้น้ำส้มสายชูหรือผงฟู  2 - 4 ช้อนโต๊ะ  ใส่ในจานวางไว้เพื่อดูดกลิ่น
  • นำไม้ประดับดูสารพิษมาตั้ง  เพื่อดูดกลิ่น  ฟอกอากาศ
  • ใช้สมุนไพรหรือเครื่องเทศที่ให้กลิ่นหอมมาต้ม  ตั้งวางไว้
   3.  การทำความสะอาดพื้น
  •  เช็ดถูด้วยน้ำธรรมดา
  • ใช้น้ำส้มสายชู  1 ถ้วยผสมกับน้ำอุ่น  1 แกลลอน (5 ลิตร) ถูทำความสะอาดพื้น
   4.  การล้างภาชนะจานชาม
  • ผสมน้ำส้มสายชูหรือน้ำมะนาว 1 - 3 ช้าน  ลงกับสบู่เหลว  ล้างจานชามที่สกปรกและมีคราบไขมัน
  • จานชามและอุปกรณ์ครัวที่ทำด้วยไม้  ให้ใช้น้ำมะนาวฝานเป็นชิ้นบาง ๆ แล้วขัดบนพื้นผิวของภาชนะเหล่านั้น  ล้างออกแล้วเช็ดให้แห้งด้วยผ้าสะอาดและอาจโรยเกลือตาม  เพื่อดูดความชื้นจากไม้ก็ได้  นอกจากนั้นยังอาจผงฟูผสมกับน้ำเช็ดภาชนะที่ทำด้วยไม้ก็ได้ผลดี
  • ขจัดคราบสกปรกบนภาชนะเคลือบ  ให้ใช้เกลือผสมกับน้ำส้มสายชูถูบริเวณที่สกปรก
  • ขจัดคราบรอยไหม้ของเศษอาหาร  โดยผงฟูให้ทั่วบริเวณรอยไหม้  ราดน้ำให้ชุ่ม  ทิ้งไว้  เศษอาหารไหมเกรียมจะหลุดออก
  • ขจัดคราบตะกอนในกาน้ำ  ให้ใช้น้ำส้มสายชูกลั่น  1  ถ้วยครึ่ง ละลายในน้ำเปล่า  1 ถ้วยครึ่ง  เติมน้ำเกลือ 3 ช้อนชา  ลงในกาน้ำต้มให้เดือด  15  นาที  ปล่อยทิ้งไว้ 1  คืน  จากนั้นล้างออกด้วยน้ำสะอาด
  • การล้างขวด  ให้ใช้ทรายกรอกลงไปในขวดผสมกับน้ำ  ปิดปากขวดด้วยฝาหรือมือ  เขย่าแรง ๆ คราบตะไคร่เขียวจะหลุดออก
   5.  การทำความสะอาดท่อระบายน้ำ
  • เทผงฟู  1  กำมือ และน้ำส้มสายชูครึ่งถ้วยลงในท่อระบายน้ำ  ปิดปากรูให้แน่ด้วยเศษผ้า  1  นาที  ปฏิกิริยาระหว่างผงฟูกับน้ำส้มสายชูจะทำให้เกิดแรงดันในท่อระบายน้ำ  และดันเศษอาหารที่อุดตันอยู่ออกไป  แล้วเทตามด้วยน้ำร้อน
  • เทเกลือและผงฟูอย่างละครึ่งถ้วยลงในท่อ  แล้วเทน้ำเดือนตามลงไป 6 ถ้วย  ทิ้งไว้ข้ามคืน  จากนั้นราดน้ำแรง ๆ
   6.  การฆ่าเชื้อโรค
  • ชำระล้างข้าวของเครื่องใช้เป็นประจำ ด้วยสบู่และน้ำธรรมดา  ล้างอีกครั้งด้วยน้ำร้อน  เพียงเท่านี้ก็สามารถฆ่าเชื้อได้
  • ควรให้ข้าวของเครื่องใช้แห้งตลอดเวลา  เพราะแบคทีเรียและเชื้อราไม่สามารถมีชีวิตหรือเติบโตได้ในที่แห้ง
  • ใช้บอแรกซ์ครึ่งถ้วยละลายในน้ำร้อน 1 แกลลอน (5 ลิตร)  ชำระล้างฆ่าเชื้อโรคได้
   7.  การขัดเงาพื้นและเฟอร์นิเจอร์
  • ใช้น้ำมันมะกอก  1  ช้อนชา  น้ำมะนาว 1 ผล  ผสมกับน้ำ 1 ช้อนชา ชุบด้วยผ้า ใช้เช็ดถู
  • ใช้น้ำมันพืช  1  ส่วน  ผสมกับน้ำมะนาวหรือน้ำส้ม  1  ส่วน  ชุบผ้าบาง ๆ เช็ดถู  วิธีนี้ยังสามารถช่วยลบรอยขูดขีดได้ด้วย
  • ใช้น้ำมันมะกอก 3 ส่วน ผสมกับน้ำส้มสายชู  1  ส่วน  ชุด้วยผ้าบาง ๆ เช็ดถู
  • กรณีมีรอยสกปรกจากคราบไขมัน  ให้เทเกลือบนรอยเปื้อนทันที  เพื่อดูดซับคราบไขมันและป้องกันไม่ให้คราบฝังแน่น
   8.  การเช็ดกระจก
  • ใช้น้ำส้มสายชูผสมกับน้ำอย่างละ 1 ส่วน  ชุบด้วยผ้านุ่ม ๆ เช็ดกระจกหรือใส่กระบอกฉีด ๆ ที่กระจก แล้วใช้ผ้านุ่ม ๆ  เช็ดตาม
  • รอยขูดขีดบนกระจก  ให้ใช้ยาสีฟันถู  แล้วใช้ผ้านุ่มเช็ดเบา ๆ
   9.  การทำความสะอาดพรม  เฟอร์นิเจอร์  เบาะ  นวม
  • การดูดกลิ่นให้ใช้ผงฟูหรือแป้งข้าวโพด  โรยบนพรมโดยใช้อัตราส่วน 1 ถ้วย  ต่อพื้นที่ห้องขนาดกลาง  ทิ้งไว้  30  นาที  แล้วใช้เครื่องดูดออก  ถ้ากลิ่นติดแน่นให้โรยทิ้งไว้ข้ามคืน  จึงดูดออก
  • การขจัดคราบเลือด  ใช้ผ้าขนหนูชุบน้ำเย็นเช็ดเบา ๆ
  • คราบเหนียวเหนอะหนะ  ใช้ผงฟูทาทับรอยเปื้อน  ใช้มือถูเบา ๆ ทิ้งไว้  1  ชั่วโมง  แล้วเช็ดออก  ทำซ้ำอีกถ้ารอยเปื้อนยังไม่หมด
  • คราบไขมัน  ใช้แป้งข้าวโพดทาทับรอยเปื้อน  ทิ้งไว้  1  ชั่วโมง  จากนั้นเช็ดออก
  • คราบเขม่าหรือเถ้าถ่าน  ใช้เกลือทาทับบาง ๆ แล้วเช็ดออก
   10. การกำจัดมด  แมลงสาบ
  • โรยพริกป่น  สะระแหน่แห้ง  กากกาแฟ  ตามบริเวณที่มดเดินหรือบีบมะนาวตามรู้เข้าของมด  แล้วทิ้งเปลือกมะนาวไว้ตรงนั้น  ปลูกสะระแหน่ไว้รอบบ้าน  มดจะไม่เข้าใกล้
  • ใช้ผงฟูหรือใช้น้ำส้มสายชู  ผสมน้ำเช็ดตามทางเดินมด
  • ใช้ข้าวโอ๊ตหรือแป้งข้าวโพดผสมกับปูนพลาสเตอร์ในอัตราส่วนเท่า ๆ กัน  โรยบริเวณที่แมลงสาบมารบกวน  เมื่อแมลงสาบกินเข้าไป  ปูนพลาสเตอร์จะแข็งตัว แมลงสาบจะตาย
  • ใช้ผงฟูผสมกับน้ำตาลทรายอย่างละเท่า ๆ กัน  โรยบริเวณที่แมลงสาบมารบกวน
ที่มา : สำนักพิมพ์เกษตรกรรมธรรมชาติ. คู่มือพึ่งตนเอง(ฉบับกระเป๋า).กรุงเทพฯ : รุ่งเรืองสาส์นการพิมพ์. 2547.
       

10 กุมภาพันธ์ 2553

การเพาะถั่วงอกไว้กินเอง

การเพาะถั่วงอกไว้กินเอง
     
          เรามาต่อกันในกับการเพาะถั่วงอกไว้กินเองนะครับวันนี้...  ผมนำการเพาะถั่วงอกในขวดกาแฟมาให้เพื่อน ๆ ลองทำดูนะครับ...
          การเพาะถั่วงอกในขวดกาแฟ  เป็นวิธีการที่เหมาะสำหรับการเพาะถั่วงอกกินเองในครัวเรือน  1  ขวดกาแฟ  ก็จะได้ถั่วงอกประมาณ 1 มื้อ



อุปกรณ์
  1. ขวดกาแฟชนิดใสหรือชนิดสีชาก็ได้
  2. ผ้าไนลอนหรือผ้าขาวบาง  กว้าง 4 นิ้ว ยาว 4 นิ้ว
  3. ถั่วเขียว 1 กำมือ
ขั้นตอน
          1.  ล้างถั่วเขียวด้วยน้ำสะอาด  แช่ในน้ำอุ่นทิ้งให้เย็น แช่ในน้ำนั้ต่อไปทิ้งไว้ 1 คืน หรืออย่างน้อยนาน 6 - 8 ชั่วโมง
          2.  หลังจากแช่ถั่วเขียวแล้ว  เทถั่วเขียวใส่ขวดกาแฟ ใช้ผ้าไนลอนหรือผ้าขาวบางปิดปากขวด  ใช้หนังยางรัดให้แน่น  แล้วเปิดน้ำใส่ขวดให้ท่วมเมล็ดถั่ว  แล้วเทน้ำทิ้ง

          3.  วางขวดในแนวนอนในถุงกระดาษหรือในที่มืด

          4.  หลังจากนั้น 3-4 ชั่วโมง ให้นำขวดที่เพาะถั่วนี้มาให้น้ำ  โดยเทน้ำใส่ทางปากขวด  แล้วเทน้ำทิ้ง

          5.  ทำตามข้อ 4 เป็นเวลา 3 วัน ในระหว่างให้น้ำแต่ละวันจะเห็นถั่วงอกค่อย ๆ โตขึ้น จนวันที่ 3 ถั่วงอกก็จะโตขึ้นแน่น  ก็สามารถนำไปรับประทานได้  แล้วนำขวดกาแฟเปล่าและผ้าไนล่อนหรือผ้าขาวบางล้างน้ำให้สะอาด  ผึ่งแดดให้แห้ง  เพื่อใช้ในการเพาะครั้งต่อไป นะครับ...

          รูปแบบการเพาะถั่วงอกนั้น  เป็นการนำถั่วไปเพาะในภาชนะที่มีความชื้นและความร้อนหรืออุณหภูมิที่พอเหมาะ  โดยไม่ให้โดนแสงสว่าง  ภายในระยะเวลา 2 -3 วัน  ก็จะได้ถั่วงอกนำไปรับประทานหรือจำหน่ายได้
          การเพาะถั่วงอกจึงสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้กับอุปกรณ์ที่หลากหลาย ตามความพร้อมนะครับ... ถ้าต้องการทำเพื่อเป็นรายได้เสริมก็อาจหาอุปกรณ์ที่มีขนาดใหญ่ขึ้น เช่นอาจใช้ถังพลาสติก  หม้อดิน  หรือวัสดุอื่น ๆ ก็ได้นะครับ 

ที่มา : สำนักพิมพ์เกษตรกรรมธรรมชาติ. คู่มือพึ่งตนเอง(ฉบับกระเป๋า).กรุงเทพฯ : รุ่งเรืองสาส์นการพิมพ์. 2547.

09 กุมภาพันธ์ 2553

การปลูกผักสวนครัวเพื่อการบริโภคในครัวเรือน

การปลูกผักสวนครัวเพื่อการบริโภคในครัวเรือน
         
          สวัสดีครับเพื่อน ๆ วันก่อนผมไปเจอหนังสือดีอยู่เล่มหนึ่ง เป็นเรื่องเกี่ยวกับการพึงพาตนเองด้านต่าง ๆ ไว้ถึง 8 ด้าน  ผมเลยขอนำมาเสนอให้เพื่อน ๆ สาระดีดี เผื่อจะช่วยจุดประกายให้กับใครหลาย ๆ คน ในการหันกลับมาพึงพาตนเองในด้านต่าง ๆ ให้มากขึ้น
          วันนี้ขอนำเสนอเรื่อง  การปลูกผักสวนครัวเพื่อการบริโภคภายในครัวเรือนนะครับ...




          การปลูกผักสวนครัวเพื่อการบริโภคภายในครัวเรือน  สิ่งแรกที่ต้องนำมาพิจารณาก็คือ  พื้นที่ที่จะนำมาปลูกผัก  สำหรับคนที่มีบ้านอยู่ในชนบท นอกเขตเมือง  คงไม่มีปัญหาเรื่องพื้นที่ปลูก  แต่สำหรับคนที่มีบ้านอยู่ในเมือง  อาจเป็นบ้านเดี่ยว หรือบ้านแฝด บ้านทาวน์เฮ้าส์ และบ้านตึกแถว อาจมีปัญหาด้านพื้นที่
          ในกรณีบ้านเดี่ยวหรือบ้านแฝด  สามารถใช้พื้นที่ว่างบริเวณหน้าบ้าน หลังบ้านหรือด้านข้างของบ้าน  แต่ควรพิจารณาว่าพื้นที่ที่มีแสงแดดส่องถึงนานอย่างน้อยครึ่งวัน  พื้นที่ใต้ร่มไม้ใหญ่หรือใต้ร่มเงาอื่น  จะเหมาะกับการปลูกผักบางชนิดเท่านั้น คือ ผักจำพวกผักสวนครัว  ผักพื้นบ้าน  จะปลูกผักจีนไม่ได้  นอกจากนั้น  บริเวณริมรั้วก็เป็นพื้นที่หนึ่งที่น่าสนใจนะครับ 




 


          แต่ถ้าเป็นบ้านทาวน์เฮ้าส์ ซึ่งมีพื้นที่ว่างอยู่น้อย  จะทำแปลงปลูกก็คงจะทำให้แปลงเล็ก  จึงขอแนะนำให้ปลูกผักสวนครัวในกระถาง (อันนี้ได้กล่าวมาแล้วในบทความก่อนหน้านี้นะครับ...) หรือในกระบะ  แล้วทำชั้นวางในแนวตั้ง  หรือจะใช้แขวนเป็นชั้น ๆ ที่เรียกว่า "สวนครัวล้อยฟ้า" หรือทำ "สวนครัวกำแพง"  โดยหาภาชนะก้นสูงปากเปิด  เช่น กระถางแขวนกำแพง  หรือจะใช้แกลลอนน้ำมันตัดปากยึกติกกับผนังกำแพงเป็นชั้น ๆ ก็จะช่วยเพิ่มพื้นที่ปลูกผักได้มากที่เดียว


         ในกรณีของตึกแถวหรือคอนโดมิเนียม  จะมีพื้นที่ว่างก็คือ ระเบียงและดาดฟ้า  ควรปลูกผักกระถาง สวนครัวลอยฟ้า หรือสวนครัวกำแพง ดาดฟ้าอาจจะจัดเป็นแปลงปลูกผักก็ได้  โดยการทำบ่อหรือคอกบรรจุดิน  แต่ต้องคำนึงถึงความแข็งแรงของพื้นของดาดฟ้าที่จะรับน้ำหนักแปลงปลูกผักหรือมีการระบายน้ำที่ดีและน้ำจะไม่ซึมลงไปสู่ห้องใต้ดาดฟ้า







ที่มา : สำนักพิมพ์เกษตรกรรมธรรมชาติ.  คู่มือพึ่งตนเอง(ฉบับกระเป๋า).กรุงเทพฯ : รุ่งเรืองสาส์นการพิมพ์. 2547.

08 กุมภาพันธ์ 2553

การปลูกผักสวนครัวในภาชนะ

การปลูกผักสวนครัวในภาชนะ
          สวัสดีครับ...วันนี้ผมมาเสนอไอเดียให้กับเพื่อน ๆ ในเรื่องการปลูกผักสวนครัวไว้ทานเองนะครับ ซึ่งการปลูกพืชผักสวนครัวในกระถางนี้เป็นการใช้พื้นที่ว่างให้เป็นประโยชน์ และยังช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายอีกด้วยนะครับ 
          ถามว่าถ้าหากเพื่อน ๆ ต้องการทำอาหารที่ต้องใช้ผักเป็นส่วนประกอบ  แต่ว่าเราจำเป็นต้องใช้เพียงนิดหน่อยแต่เวลาไปซื้อขอซื้อสักนิดหน่อยจะเป็นการลำบากไหมครับ  ทั้งเป็นการเสียเวลา ค่าเดินทาง แต่หากเพื่อน ๆ มีพื้นที่ว่าง ๆ หลังบ้าน  ระเบียง หน้าบ้าน หน้าห้อง ทางเดิน ใต้ต้นไม้ และอื่น ๆ  เรามาปลูกพืชผักสวนครัวไว้ทานเองกันดีกว่าครับ...
          1.  ก่อนอื่นก็ต้องรู้ว่าเราใช้ผักสวนครัวอะไรบ้าง  พืชที่เหมาะกับการปลูกในภาชนะ ควรเป็นพืชผักที่หยั่งรากตื้น  ไม่เกิน 10 เซนติเมตร เช่น สาระแหน่ ผักชีฝรั่ง หอมแบ่ง (หอมแดงหรือต้นหอม) แมงลัก โหระพา กะเพรา ตำลึง ผักบุ้งไทย ผักบุ้งจีน กระชาย ข่า ตะไคร้ พริกชี้ฟ้า พริกขี้หนู มะเขือเทศต่างๆ

          2.  เตรียมภาชนะ ภาชนะที่ใช้ในการปลูกผักสวนครัว อาจใช้ภาชนะที่ชำรุดหรือแตกหักเล็กน้อยได้ เช่น ถังน้ำที่รั่ว กะละมังที่แตก โดยเลือกภาชนะที่มีขนาดไม่เล็กจนเกินไป และเจาะรูที่ก้นภาชนะเพื่อไม่ให้น้ำขัง

          3.  เตรียมดิน  เนื่องจากดินปลูกพืชผักในกระถางอยู่ในพื้นที่ที่จำกัด ดินปลูกจึงควรมีลักษณะร่วนโปร่ง อุ้มน้ำ หรือเก็บความชื้นได้ดี สามารถระบายน้ำ และถ่ายเทอากาศได้ดี ดินทั่วไปมีคุณสมบัติทางเคมี และทางกายภาพที่แตกต่างกันไป เพื่อให้เหมาะสมเป็นเครื่องปลูกไม้กระถางจึงต้องมีการปรับปรุงคุณภาพโดยมีวัสดุอื่นๆ เป็นส่วนผสมดังนี้
  • อินทรีวัตถุ ประกอบด้วย เศษซากใบไม้ผุ เปลือกไม้แห้ง แกลบ ขุยมะพร้าว กาบมะพร้าวสับ ฟางข้าว และเปลือกทั่ว เป็นต้น
  • ปุ๋ยคอก ประกอบด้วย ขี้วัว ขี้ควาย ขี้หมู ขี้ไก่ และขี้ค้างคาว เป็นต้น
  • ทราย อิฐป่น และถ่านป่น
ตัวอย่างส่วนผสมของดินปลูกในภาชนะ

 สูตรที่ 1
  • ดินร่วน หรือดินร่วนปนทราย 2 ส่วน
  • อินทรีวัตถุ 1 ส่วน
  • ปุ๋ยคอก 1 ส่วน
สูตรที่ 2

  • ดินร่วน 1 ส่วน
  • ทรายหยาบ 1 ส่วน
  • ใบไม้ผุ 1 ส่วน
  • ถ่านป่น 1/4 ส่วน
สูตรที่ 3

  • ดินร่วน 1 ส่วน
  • ทรายหยาบ 1 ส่วน
  • ใบไม้ผุ 1 ส่วน
  • ปุ๋ยคอก 1/4 ส่วน
ในกรณีที่ดินเป็นดินเหนียวควรใช้ส่วนผสมดังนี้

 สูตรที่ 4

  •  ดินเหนียว 2 ส่วน
  •  ขี้เถ้าแกลบ 1 ส่วน
  •  ปุ๋ยคอก 1 ส่วน
  •  เปลือกถั่ว 1 ส่วน

          สำหรับการดูแลก็เหมือนกับการปลูกพืชผักทั่วไป คือ น้ำ  แสงแดด  ปุ๋ย (ควรเป็นชีวภาพ) นะครับ ...
 (ปลูกทุกอย่างที่กิน  กินทุกอย่างที่ปลูก ด้วยนะครับ)
ที่มา :