12 ธันวาคม 2552

ปลูกมะนาววงบ่อ 170 วง คืนทุนใน 1 ปี

ปลูกมะนาววงบ่อ 170 วง คืนทุนใน 1 ปี


          เป็นที่ทราบกันว่าการปลูกมะนาวในวงบ่อซีเมนต์มีข้อดีตรงที่ผู้ปลูกสามารถควบคุมปัจจัยต่าง ๆ ได้ อาทิ การให้ปุ๋ย การให้น้ำ ฯลฯ เพียงแต่ผู้ปลูกจำเป็นต้องมีความเอาใจใส่ที่ดี ถึงจะประสบผลสำเร็จ

          อย่างเช่น คุณธนวัฒน์ รัตนถาวร เกษตรกรจังหวัดเชียงใหม่ ปลูกมะนาวใน วงบ่อซีเมนต์ จำนวน 170 วงบ่อ โดยเริ่มปลูกตั้งแต่เดือนมีนาคม 2551 และต้นมะนาวมีความสมบูรณ์เต็มที่ในช่วงเดือนตุลาคม 2551 และได้บังคับให้ต้นมะนาวออกในช่วงฤดูแล้งขายผลผลิตมะนาวได้ตั้งแต่ราคาผลละ 1 บาท จนถึงราคาแพงที่สุดผลละ 6 บาทเมื่อช่วงเดือนเมษายน 2552 ที่ผ่านมา ใช้เวลาปลูกเพียงปีเศษได้เงินทุนคืนและกำไรบางส่วน

          คุณธนวัฒน์ จะใช้วิธีการวางวงบ่อซีเมนต์แบบแถวเดี่ยวโดยใช้ระยะระหว่างต้น 3 เมตร และระยะระหว่างแถว 4 เมตร วัสดุที่ใช้ปลูกมะนาวในวงบ่อซีเมนต์นับว่ามีความสำคัญมาก

          จะมีการตีพรวนดินให้มีความร่วนซุย 1-2 รอบ หลักจากนั้นจะทำการผสมปุ๋ยคอกเก่าหรือปุ๋ยหมักหรือเปลือกถั่วเขียวคลุกเคล้ากับดินให้ดี หลังจากนั้นตักวัสดุปลูกใส่ในวงบ่อซีเมนต์ให้พูนแบบหลังเต่า (โดยทั่วไปแล้ววัสดุที่จะใช้ปลูกมะนาวในวงบ่อซีเมนต์นั้นจะเน้นในเรื่องของการระบายน้ำที่ดีและมีอินทรียวัตถุสูง ดังนั้นสัดส่วนของวัสดุปลูกที่เหมาะสมคือ หน้าดิน : ขี้วัวเก่า : เปลือกถั่วเขียว = 3:1:2)

          และที่ต้องเน้นเป็นพิเศษก็ คือขณะที่ใส่วัสดุปลูกลงในวงบ่อนั้นจะต้องขึ้นไปเหยียบวัสดุขอบ วงบ่อส่วนบริเวณ ตรงกลางวงบ่อไม่ ต้องเหยียบ เมื่อนำต้นมะนาวพันธุ์แป้น ดกพิเศษมาปลูกในวงบ่อแล้วควรจะมีการปักไม้หลักให้กับต้นมะนาวเพื่อไม่ให้ ต้นโยก ระบบการให้น้ำจะใช้ระบบน้ำแบบ มินิสปริงเกอร์, ระบบน้ำหยด, ระบบน้ำ พุ่ง ฯลฯ แล้วแต่ความสะดวกแต่ระบบการให้น้ำในการปลูกมะนาวในวงบ่อซีเมนต์นับว่ามีความสำคัญมาก

          เคล็ดลับในการผลิตมะนาวฤดูแล้งในวงบ่อซีเมนต์จะเน้นในการเด็ดหรือ ตัดผลมะนาวในช่วงฤดูฝนหรือมะนาวปีออกให้หมดไม่ต้องเสียดาย เพื่อไม่ให้ เป็นภาระกับต้น และเพื่อให้ต้นมะนาว มีความสมบูรณ์มากที่สุด ในช่วงเดือนกันยายนจะต้องงดการให้น้ำกับต้นมะนาวโดยใช้ผ้าพลาสติก คลุมต้นเป็นเวลานานประมาณ 4-5 วันหรือเกษตรกรบางรายอาศัยจังหวะที่ฝนทิ้งช่วงก็ได้ เมื่อใบมะนาวเหี่ยว เริ่ม ให้น้ำอย่างเต็มที่ทุกวัน ต้นมะนาวจะกลับ มาสดชื่นและไม่นานก็จะแตกใบอ่อน พร้อมดอก.

ที่มา : http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&contentId=30242&categoryID=568

การเลี้ยงกบในกล่องโฟม (คอนโด)

การเลี้ยงกบในกล่องโฟม (คอนโด)



          ก่อนอื่นต้องหากล่องโฟมขนาดกว้าง 40 ซม.ยาว 60 ซม. สูง 30 ซม. โดยหาซื้อได้จากห้างสรรพสินค้า ที่ห้างใช้ใส่ผักผลไม้มาวางจำหน่าย ประมาณราคากล่องละ 70 – 80 บาท แต่ต้องเลือกกล่องโฟมที่ใช้ในการใส่ผักและผลไม้เท่านั้น เนื่องจากกล่องโฟมเหล่านี้จะไม่ก่อให้เกิดสารพิษตกค้างเมื่อนำมาใช้เป็นสถานที่เลี้ยงกบ และต้องเลือกดูว่ากล่องโฟมไม่มีการรั่วซึมหรือไม่

          จากนั้นนำมาทำความสะอาดและดัดแปลงโดยการเจาะรูรอบกล่องทั้ง 4 ด้านเพื่อให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก นำเทปกาวมาติดยึดฝากล่องให้พับปิดเปิดได้ แล้วเจาะรูด้านบนฝากล่อง ตัดปากขวดน้ำดื่มพลาสติก ยัดใส่ลงไปในรูที่เจาะไว้เพื่อใช้เป็นที่ให้อาหาร เมื่อหาที่วางกล่องเรียบร้อย ใส่น้ำลงไปให้สูงประมาณ 1 ซม. นำกบจากบ่ออนุบาลที่มีอายุ 2 เดือนใส่กล่องละ 100 ตัว ( หลักการเลือกซื้อลูกกบ ) ไปวางไว้ในโรงเรือนหรือที่ใดก็ได้ แต่ห้ามไปตั้งกลางแจ้งหรือถูกแดดเด็ดขาดเพราะจะทำให้กบร้อนตายได้

          เพื่อประหยัดเนื้อที่ นำกล่องโฟมตั้งซ้อนกันไว้แต่ไม่ควรเกิน 4 ชั้น เพราะจะสะดวกต่อการให้อาหาร โดยการให้อาหารกบก็จะใช้หัวอาหารกบหรืออาหารปลาดุกโตวันละ 2 มื้อ เช้า-เย็น ส่วนการเปลี่ยนถ่ายน้ำก็ควรจะเปลี่ยน 2 วันต่อครั้ง เพื่อไม่ให้น้ำสกปรก ส่วนการเปลี่ยนน้ำก็ทำได้ง่ายๆ โดยการแง้มฝากล่องแล้วเทน้ำออกจากนั้นก็นำสายยางสอดลงไปในที่ให้อาหาร ปล่อยน้ำเข้ากลับไปเหมือนเดิม จากนั้นหมั่นตรวจดูการเจริญเติบโตของกบทุก 2 สัปดาห์ และคัดแยกกบที่โตช้ากว่าตัวอื่นๆ ออก เนื่องจากหากปล่อยไว้กบจะกัดกันและเป็นแผลซึ่งอาจทำให้เกิดโรคตามมาได้

          กระทั่งกบอายุได้ 4 เดือน ก็ให้แยกกบออกจนเหลือ 50-60 ตัว เนื่องจากกบจะเริ่มโต หากปล่อยไว้จะทำให้แออัดกบจะกัดกัดตายได้ จากนั้นก็ดูแลไปอีก 2 เดือน ก็สามารถจับไปขายได้แล้ว กบก็จะมีน้ำหนักอยู่ที่ตัวละ 400-500 กรัม



          “การเลี้ยงกบกล่องโฟมทำได้ง่าย สะดวกมาก เพราะกล่องมีน้ำหนักน้อย ง่ายต่อการเคลื่อนย้าย ยกเปลี่ยนน้ำได้สะดวก ถือเป็นการเลี้ยงระบบปิดทำให้กบปลอดจากโรค ประหยัดเนื้อที่ เพียงแต่มีพื้นที่ 4×6 ตารางวา ก็จะเลี้ยงกบได้ถึง 5,000 ตัวเลยทีเดียว” คุณลุงฉะอ้อนกล่าวไว้นะครับ

          นับเป็นอีกหนึ่งวิธีในการเลี้ยงกบที่ผู้สนใจสามารถนำไปทดลองเลี้ยงได้ โดยเฉพาะคนเมืองซึ่งมีเนื้อที่น้อยได้ก็สามารถใช้ประโยชน์จากการเลี้ยงกบเพื่อสร้างรายได้เสริมอีกทางหนึ่งด้วย



--------------------------------------------------------------------------------

ข้อดี
1. เลี้ยงในบริเวณบ้าน หรือมีพื้นที่จำกัดได้ดีพอสมควร และดีกว่าการเลี้ยงแบบใส่ขวดพลาสติก
2. ลงทุนต่ำ กว่าเลี้ยงในบ่อปูนหรือบ่อดิน
3. ให้อาหารกบได้ง่ายและทั่วถึง ไม่เปลืองอาหาร
4. ควบคุมโรคได้ง่าย ถ่ายน้ำสะดวก และใช้น้ำน้อยกว่า
5. เหมาะกับผู้ที่เริ่มศึกษาการเลี้ยง หรือเลี้ยงเป็นอาชีพเสริมเล็กๆน้อยๆเท่านั้น ไม่หวังผลกำไร

--------------------------------------------------------------------------------

ข้อเสีย
1. ใช้เวลาถ่ายน้ำและให้อาหารนาน หากเลี้ยงจำนวนหลายๆกล่อง เพราะใส่ได้แค่กล่องละ 100 ตัว เท่านั้น
2. ไม่เหมาะกับการเลี้ยงจริงจังเชิงพาณิชย์ ที่ต้องมีปริมาณผลผลิตต่อเดือนสูง ถ้าหากมีแรงงานน้อยหรือผู้เลี้ยงมีเวลาไม่มากพอ
3. ไม่คุ้มค่าเวลาเลี้ยง เหน็ดเหนื่อยกว่าปกติ ไม่มีกำไร เหมือนขี่ช้างจับตั๊กแตน ไม่คุ้มค้า

ที่มา : http://www.obobfarm.com/FrogFarm/?p=32

การเลี้ยงกบคอนโด

การเลี้ยงกบคอนโด
         
          การลงทุนประกอบธุรกิจเลี้ยงกบ ก็เป็นอีกอาชีพหนึ่งที่เกษตรกรหลายพื้นที่ให้ความสนใจและนิยมหันมาเลี้ยงกบกันมากขึ้น นอกจากเกษตรกรจะลงทุนสร้างบ่อลอยหรือบ่อซีเมนต์ เลี้ยงกบแล้ว เกษตรกรบางรายยังใช้ภูมิปัญญาพัฒนา วิธีเลี้ยงกบ เป็นการลดต้นทุน ด้วยการเลี้ยงกบในขวดน้ำ และเลี้ยงกบคอนโด เพียงแต่จัดหายางรถสิบล้อเก่า ๆ มาวางซ้อนเป็นชั้น ๆ ใส่น้ำนำลูกกบไปปล่อยเลี้ยง ใช้เวลาเลี้ยง ให้อาหารประมาณ 2 เดือน กบก็จะโตขายได้ราคาดี

          ผู้ที่สนใจจะเลี้ยงกบไว้ข้างบ้านนั้น แนะนำให้เลี้ยงกบคอนโด นอกจากจะไม่สิ้นเปลืองน้ำ ใช้พื้นที่ไม่มากแล้ว กบที่เลี้ยงในคอนโดจะโตเร็วกว่ากบที่เลี้ยงในบ่อลอยที่ต้องใช้เวลานานถึง 3 เดือน แต่กบคอนโดใช้เวลา 2 เดือนก็จะโตเต็มที่ขายได้ 3 – 4 ตัวต่อ 1 กก. และสร้างคอนโด 1 ชุด สามารถเลี้ยงกบได้ 100 ตัว สำหรับอาหารที่นำมาใช้เลี้ยงกบ ตามปกติก็มีอาหารกบขายอยู่ตามท้องตลาด แต่เพื่อประหยัดต้นทุน ก็ทดลองนำอาหารปลาดุกมาเลี้ยงกบได้ หรือผสมกล้วยน้ำว้าในอาหารให้กบกิน กบก็จะโตได้ตามปกติและยังให้น้ำหนักดีอีกด้วย




วิธีการเลี้ยงกบคอนโด

1. วัสดุอุปกรณ์
1.1 ยางรถ (ขนาด รถแทรกเตอร์ เลี้ยงได้100 ตัว,ขนาด รถ 10 ล้อ เลี้ยงได้ 50 ตัว, ขนาด 6 ล้อ เลี้ยงได้ 30 ตัว,ขนาด 4 ล้อ เลี้ยงได้ 20 ตัว)
1.2 ทรายหยาบ
1.3 ตะแกรง
1.4 กบพันธุ์ ( หลักการเลือกซื้อลูกกบ )
1.5 ปูนขาว
1.6 อาหารกบแท้ หรือปลาดุก
1.7 ถาดวางอาหาร

2. วิธีการเลี้ยง
2.1 เริ่มต้นด้วยการหาพื้นที่เลี้ยงกบ(แสงแดดส่องรำไร)
2.2 ใช้ทรายหยาบถมหนาประมาณ 6 นิ้ว
2.3 เสร็จแล้วให้ใช้ตะแกรงรองพื้น
2.4 แล้วเทหินเกล็ดทับตะแกรง หนาประมาณ 3 นิ้ว
2.5 วางคอนโด (ยางรถ 3 เส้น ซ้อนทับขึ้นไป)
2.6 ปล่อยกบลงคอนโด
2.7 นำตะแกรงปิดปากคอนโดของกบ ด้านบน เพื่อป้องกันกบกระโดดออกไป

3. อาหารกบและการให้อาหาร
3.1 ใช้อาหารปลาดุกเม็ดใหญ่ ให้กบกินทุกเช้า เย็น โดยวางอาหารไว้ในถาดด้านล่างคอนโด
3.2 อาหารเสริมเป็นผักบุ้งหั่นฝอย ให้กิน ทุก 2 วัน/ครั้ง
3.3 ใส่น้ำ 2 คอนโด (ชั้นที่ 1 และ 2) ถ่ายน้ำทุก 3 วัน
3.4 ล้างหินและอุปกรณ์ให้สะอาด ล้างด้วยจุลินทรีย์ผลไม้
3.5 ใช้ไฟส่อง ล่อแมลงให้กบกิน เป็นอาหารเสริม
3.6 เลี้ยงไปประมาณ 20 วัน ให้แยกขนาดกบเล็ก-ใหญ่

4. พันธุ์กบที่นำมาเลี้ยง เป็นกบคอนโด เป็นกบพันธุ์ ที่หาซื้อได้ตามฟาร์มทั่วๆไปครับ

5. ระยะเวลาการเลี้ยงกบประมาณ 2 เดือน

--------------------------------------------------------------------------------

ข้อดี
1. เลี้ยงในบริเวณบ้าน หรือมีพื้นที่จำกัดได้ดี และดีกว่าการเลี้ยงแบบใส่ขวดพลาสติก
2. ลงทุนต่ำ กว่าเลี้ยงในบ่อปูน
3. ให้อาหารกบได้ง่ายและทั่วถึง ไม่เปลืองอาหาร
4. ควบคุมโรคได้ง่าย ถ่ายน้ำสะดวก และใช้น้ำน้อยกว่า
5. เหมาะกับผู้เริ่มทดลองเลี้ยงเพื่อศึกษา ไม่หวังผลกำไร

--------------------------------------------------------------------------------

ข้อเสีย
1. ยากต่อการสังเกตและดูแล หากเลี้ยงในปริมาณมากๆ
2. ไม่เหมาะกับการเลี้ยงจริงจังเชิงพาณิชย์ ที่ต้องมีปริมาณผลผลิตต่อเดือน

ที่มา : http://www.obobfarm.com/FrogFarm/?p=36

01 ธันวาคม 2552

การทำแหนมเห็ดนางฟ้า

การทำแหนมเห็ดนางฟ้า



 
การทำแหนม"เห็ดนางรม,นางฟ้า"

 
          ในการเพาะเห็ดนางฟ้านางรม เมื่อเก็บเกี่ยวและนำไปจำหน่าย พบว่าจะมีเศษเห็ด เห็ดที่แก่และบางส่วนเหลือจากบริโภค หรือเหลือจากการจำหน่าย น้อยบ้าง มากบ้าง คุณบุญเพ็ง คำเลิศ เกษตรกร จังหวัดศรีสะเกษ จึงได้คิดค้นว่าเศษเห็ดเหล่านี้น่าจะนำไปใช้ประโยชน์อื่นได้ จนได้ศึกษาหาความรู้ การทำแหนมเห็ดเก็บไว้บริโภค ปรากฎว่า เมื่อลองทำและเก็บไว้กินกันเอง และมีเกษตรกรข้างเคียงสนใจขอซื้อไปบริโภค จึงได้ขยายปรับเปลี่ยนรสชาด เป็นแหนมสูตรที่เหมาะสำหรับคนกินเจและคนทั่วๆไป คือมีทั้งแหนมเห็ดสูตรเจ และแหนมเห็ดไม่เจ (ใส่หมู)

 

 

 
เครื่องปรุง/ส่วนผสม :

 
1. เห็ดนางฟ้านางรม หรือเห็ดฮังการี นึ่งสุกคั้นเอาน้ำออก 1 กิโลกรัม
2. เนื้อหมู 2 ขีด
3. ข้าวเหนียว 1 ปั้น
4. เกลือไอโอดีน 2 ช้อนแกง
5. กระเทียม 50 กรัม

 
วิธีทำแหนมเห็ด:

 
  1. ล้างเห็ดให้สะอาดเอาส่วนที่เป็นโคนออกให้เหลือแต่ดอกเห็ด เสร็จแล้วฉีกเป็นชิ้นเล็กๆเหมือนหนังหมูที่เราหั่นใส่แหนม จากนั้นนำเห็ดไปนึ่ง 3 นาทีเอามาผึ่งให้เย็น แล้วคั้นน้ำออก
  2. นำเนื้อหมูไปสับ กระเทียมปอกเปลือกทุบให้ละเอียด นำส่วนผสมทุกอย่างคลุกเคล้าให้เข้ากัน เสร็จแล้วนำไปนึ่งอีก 1-2 นาที แล้วนำมาห่อด้วยพลาสติก หรือใบตอง ถ้าต้องการรับประทานเร็วให้ใส่ข้าวมากๆ แหนมจะเปรี้ยวเร็ว

 
***หมายเหตุในกรณีจะทำแหนมเจ ไม่ต้องใส่หมู

 

 
แหล่งข้อมูล : คุณบุญเพ็ง คำเลิศ เกษตรกร จังหวัดศรีสะเกษ

 
ที่มา : ศูนย์ทางด่วนข้อมูลการเกษตร *1677
สถานีวิทยุร่วมด้วยช่วยกัน จ.อุบลราชธานี

การปลูกผักปลอดสารพิษในกระสอบเก่า

การปลูกผักปลอดสารพิษในกระสอบเก่า

          คุณ โสทร รอดคงที่ บัณฑิตหนุ่มจากคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์วิทยาเขตปัตตานี หันหลังจากงานประจำมาเริ่มต้นทำงานเกษตรแบบพอเพียง โดยการปลูกผักแบบปลอดสารพิษในกระสอบเก่า โดยแนะนำว่าสามารถใช้ได้ทั้งกระสอบปุ๋ย, กระสอบอาหารสัตว์, กระสอบแป้งสาลี หรือกระสอบต่าง ๆ ขนาดใดก็ ได้ ยกเว้นกระสอบป่าน สำหรับกระสอบปุ๋ยบางชนิดที่น้ำซึมผ่านยากนั้นควรนำมาเจาะรูให้สามารถระบาย น้ำได้ก่อน แต่ถ้าเป็นกระสอบที่น้ำซึมผ่านได้ดี ก็นำมาใช้ได้เลย

          ดินที่จะนำมาใส่กระสอบนั้น ก็ จะต้องผสมให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์ โดยเน้นวัสดุปลูกที่หาได้ง่ายในท้องถิ่น เช่น ปุ๋ยคอกเก่า, ปุ๋ยหมัก, แกลบ, แกลบเผา, เศษใบไม้ ฯลฯ คลุกเคล้า ให้เข้ากัน คุณโสทรแนะว่า ถ้าผสมปุ๋ยหมักจุลินทรีย์โบกาฉิ ได้ด้วยก็จะยิ่งดี วิธีการทำปุ๋ยหมักจุลินทรีย์ คือ นำปุ๋ยคอกเก่า 1 ส่วน ผสมกับรำละเอียด 1 ส่วน ผสมกับแกลบหรือหญ้าแห้ง ฟางแห้ง ทะลายปาล์ม หรืออื่น ๆ 1 ส่วน คลุกเคล้ากันให้ทั่ว จากนั้น นำกากน้ำตาล 40 ซีซี ละลายน้ำ 10 ลิตร ใส่จุลินทรีย์ 40 ซีซี คนให้เข้ากัน

          หลังจากนั้นนำน้ำที่ได้ไปราดคลุกเคล้ากับวัสดุที่เตรียมไว้ก่อนหน้านี้แล้ว ทดสอบว่า วัสดุปลูกใช้ได้หรือยัง ทดสอบโดยใช้มือขยำวัสดุปลูกดู หากยังมีน้ำไหลออกระหว่างนิ้ว แสดงว่าวัสดุปลูกแฉะเกินไป ให้เพิ่มวัสดุเข้าไปอีก ถ้าขยำเป็นก้อน แล้วปล่อยมือ ถ้าก้อนไม่แตกออกมาแสดงว่าพอดี ถ้าปล่อยมือแล้วก้อนวัสดุแตกทันที แสดงว่าวัสดุยังแห้งเกินไป ให้ราดน้ำจุลินทรีย์เพิ่มลงไป หมักวัสดุดังกล่าวโดยการกองไว้ในที่ร่ม ใช้กระสอบป่านคลุม ควรกลับกองวันละ 1 ครั้ง กลับกองปุ๋ยเรื่อยไปจนกว่าจะเย็น ซึ่ง ปุ๋ยหมักจุลินทรีย์ จะ นำมาใช้ได้ก็ราว 7- 10 วัน

          ก่อนที่จะใส่วัสดุปลูกลงในกระสอบนั้น ผู้ปลูกจะต้องรู้ก่อนว่าจะปลูกผักชนิดใด เพื่อใส่ดินให้เหมาะกับชนิดผักนั้น ๆ เช่น ถ้าปลูกผักที่มีรากยาว อย่างพริก, มะเขือเทศ, มะเขือเปราะ, มะเขือยาว ฯลฯ เราก็ต้องพับหรือม้วนปากกระสอบลงมาแล้วใส่ดินปลูกให้สูง 20-25 ซม. ถ้าปลูกผักที่มีรากสั้น อย่างผักกินใบ พวกคะน้า, กวางตุ้ง, ฮ่องเต้ ฯลฯ ก็ใส่ดินน้อยลงมา ให้สูงสัก 10-15 เซนติเมตร แต่การวางกระสอบในแนวตั้งจะทำให้ได้พื้นที่ในการปลูกน้อยแนะนำให้ใช้วิธีการ ใส่ดินในกระสอบประมาณครึ่งกระสอบแล้วมัดปากกระสอบด้วยเชือก วางกระสอบให้นอนลง จากนั้นก็ทำการเจาะรูที่กระสอบ อุปกรณ์ในการเจาะ หากระป๋องปลากระป๋องมาทาบแล้วใช้มีดคัตเตอร์ตัดเป็นวงกลม เพื่อให้ หยอดเมล็ดผักได้ โดยจำนวนรูที่เจาะก็ตามความเหมาะสมประมาณ 9-12 รู แล้วแต่ขนาดของกระสอบ จากนั้นนำเมล็ดผักมาหยอดปลูกได้ทันที รดน้ำเช้า-เย็น เมื่อต้นผักงอก มีใบจริง 2-3 ใบ ก็ให้รดน้ำหมักชีวภาพ.




ที่มา : http://kaewpanya.rmutl.ac.th/2552/index.php?option=com_content&view=article&id=1222:2009-10-13-05-06-35&catid=10:2009-07-21-03-16-58&Itemid=14

การปลูกกระเทียม

การปลูกกระเทียม โดย ผศ. ประสิทธิ์ โนรี

กระเทียม มีชื่อเรียกหลายอย่าง เช่น กระเทียมจีน(ทั่วไป),กระเทียมขาว, หอมขาว (อุดรธานี),กระเทียมหัวเทียม(คาบสมุทร)และหอมเตียม(ภาคเหนือ) เป็นต้น เป็นพืชผักอายุหลายปี แต่นำมาปลูกเป็นผักอายุปีเดียว มีกำเนิดอยู่ในแถวเอเชียกลาง สันนิษฐานว่าเป็นพืชดั้งเดิมของจีนและอินเดีย รู้จักและนำมาใช้ประโยชน์ตั้งแต่ครั้งดึกดำบรรพ์ มีบันทึกกล่าวว่าชาวโรมันไม่ชอบกระเทียม เนื่องจากมีกลิ่นแรง แต่จะใช้ประกอบอาหารสำหรับทหารและทาส

กระเทียมอยู่ในตระกูลเดียวกับหอมหัวใหญ่ หอมแดง หอมแบ่ง และ กุ่ยฉ่าย โดยกระเทียมจะสร้างกลีบหลาย ๆ กลีบและถูกห่อหุ้มรวมกันอยู่ใต้เปลือก ซึ่งมีลักษณะบางสีขาวหรือชมพู หุ้มให้เป็นตัวเดียว ใบเป็น ใบเลี้ยงเดี่ยว และแบน สามารถออกดอกและให้เมล็ดได้ นิยมขยายพันธุ์ด้วยกลีบเพราะให้ผลดีกว่า กระเทียมจะมีคุณค่าทางอาหารต่ำ เมื่อเปรียบเทียบกับพืชผักอื่น ๆ แต่อาหารบางชนิดจะหมดรสชาติ ถ้าหากขาดกระเทียม โดยเฉพาะผู้ที่นิยมรสและกลิ่นของกระเทียม นอกจากนี้ยังใช้เป็นยาสมุนไพรรักษาแผล หลอดลมอักเสบ ไอ ท้องอืด เฟ้อ อาหารไม่ย่อย โรคผิวหนังบางประเภท และความดันโลหิตสูง


กระเทียบเป็นพืชผักประเภทเนื้ออ่อนขนาดเล็ก มีอายุประมาณ 75-180 วัน ปกติเจริญเติบโตได้ดีในอากาศเย็นอุณหภูมิที่เหมาะสมอยู่ระหว่าง 12-22 องศาเซลเซียส ช่วงแสงแดดยาวประมาณ 9-11 ชั่วโมงต่อวัน มีระยะการพักตัวเช่นเดียวกับพืชตระกูลหอมทั่ว ๆ ไป ประมาณ 5-6 เดือน ถ้าหากเก็บรักษานานกว่านี้ จะเริ่มฝ่อหรืองอก โดยในปีแรกกระเทียมจะฝ่อเสียหายประมาณ 60-70%

กระเทียมที่ใช้เป็นอาหารมีอยู่ 2 ประเภท :
1. กระเทียมต้น ไม่มีหัว ปลูกโดยใช้เมล็ดพันธุ์ เพื่อรับประทานลำต้นและใบเป็นพืชผักสดเท่านั้น
2. กระเทียมหัว ปลูกด้วยกลีบหรือหัวพันธุ์ มีหลายพันธุ์ ซึ่งมาจากแหล่งต่าง ๆ กันมีอายุยาวนานกว่าประเภทแรก

พันธุ์ที่ใช้ปลูก :
ภาคเหนือนิยมปลูกพันธุ์พื้นเมืองเชียงใหม่ เชียงรายและพม่า ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือนิยมปลูกพันธุ์พื้นเมืองศรีสะเกษ และภาคกลางนิยมปลูกพันธุ์บางช้าง และพันธุ์จีน หรือไต้หวัน

พันธุ์ที่ปลูกในบ้านเรา : สามารถแบ่งได้ตามอายุการแก่เก็บเกี่ยวได้ ดังนี้
1.พันธุ์เบาหรือพันธุ์ขาวเมือง ลักษณะใบแหลม ลำต้นแข็ง กลีบเท่าหัวแม่มือ กลีบและหัวสีขาว มีกลิ่นฉุนและรสจัด อายุแก่เก็บเกี่ยวประมาณ 75-90 วัน เช่น พันธุ์พื้นเมืองศรีสะเกษ เป็นต้น
2.พันธุ์กลาง ลักษณะใบเล็กและยาว ลำต้นใหญ่ และแข็ง หัวขนาดกลาง หัวและกลีบสีม่วง อายุแก่เก็บเกี่ยวประมาณ 90-120 วัน นิยมปลูกมากในภาคเหนือ เช่นพันธุ์พื้นเมืองเชียงใหม่ เป็นต้น
3.พันธุ์หนัก ลักษณะใบกว้างและยาว ลำต้นเล็ก หัวใหญ่ กลีบโต เปลือกหุ้มสีชมพู น้ำหนักดี อายุแก่เก็บเกี่ยวประมาณ 150 วัน เช่น พันธุ์จีน หรือไต้หวัน เป็นต้น

แหล่งเพาะปลูก :
กระเทียมสามารถเพาะปลูกได้เกือบทุกภาคของประเทศแต่เหมาะที่จะปลูกในแปลงที่เป็นดินร่วน หรือระบายน้ำได้ดีและมีอุณหภูมิอากาศค่อนข้างหนาวเย็น เป็นระยะเวลายาวนานหลายเดือน ดังนั้นบริเวณเพาะปลูกกระเทียมที่สำคัญของไทย ส่วนใหญ่จึงอยู่ทางภาคเหนือตอนบน ที่สำคัญได้แก่จังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน เชียงราย แม่ฮ่องสอน พะเยา น่าน แพร่ ลำปาง และอุตรดิตถ์ นอกจากนี้มีเพาะปลูกข้างทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น ศรีสะเกษและบุรีรัมย์

ระยะเวลาเพาะปลูก : การเพาะปลูกกระเทียมส่วนใหญ่ จะปลูก 2 ช่วง คือ
1.เพาะปลูกช่วงเดือนตุลาคมถึงเดือนพฤศจิกายนและเก็บเกี่ยวเดือนมกราคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ อายุประมาณ 75-90 วันกระเทียมรุ่นนี้เรียกว่ากระเทียมดอ หรือกระเทียมเบา นิยมใช้ทำกระเทียมดอง ไม่สามารถเก็บไว้ได้นาน เพราะฝ่อเร็ว
2.เพาะปลูกช่วงเดือนธันวาคมถึงเดือนมกราคม หลังการเก็บเกี่ยวข้าวและเก็บเกี่ยวเดือนมีนาคมถึงเดือนเมษายน อายุประมาณ 90-120 วัน เรียกว่ากระเทียมปี ใช้ทำกระเทียมแห้งเพราะสามารถเก็บไว้ได้นาน

การเตรียมดินปลูก :
ดินที่เหมาะสมสำหรับการปลูกกระเทียม ควรเป็นดินที่ร่วนซุย ระบายน้ำได้ดี ถ้าดินเป็นกรดจัดจะทำให้กระเทียมไม่เจริญ ควรใส่ปูนขาวก่อนปลูกอย่างน้อย 15 วัน เพื่อปรับสภาพดินให้เป็นกรดอ่อน ๆ(pH 5.5-6.8)ก่อนไถควรหว่านปุ๋ยคอกก่อนประมาณ 4 ตันต่อไร ถ้าเป็นดินเหนียวควรใช้ไถบุกเบิกก่อนพรวน ถ้าเป็นดินร่วนใช้เฉพาะพรวนและยกแปลงเพื่อการให้น้ำและระบายน้ำได้ดี
** การเตรียมดินดีจะช่วยให้กระเทียมลงหัวดีและควรเตรียมแปลงปลูกขนาดกว้าง 1 - 2.5 เมตร ความยาวตามพื้นที่ปลูกระยะห่างระหว่างแปลง (ทางเดินหรือร่องน้ำ) ควรกว้าง 50 ซม.

การปลูกกระเทียม :
* กระเทียมปลูกโดยใช้กลีบซึ่งประกอบเป็นหัว นิยมใช้กลีบนอกปลูก เนื่องจากกลีบนอกมีขนาดใหญ่ จะให้กระเทียมที่มีหัวใหญ่และผลผลิตสูง การนำกระเทียมไปปลูกในฤดูฝน จะทำให้กระเทียมงอกไม่พร้อมกัน โตไม่สม่ำเสมอกัน
** ขนาดของกลีบจะมีอิทธิพลหรือความสำคัญ ต่อการลงหัวของกระเทียม จากการศึกษาพบว่าพันธุ์ที่มีกลีบใหญ่ ถ้าหากใช้กลีบขนาดกลางปลูกจะทำให้ผลผลิตสูง พันธุ์ที่มีกลีบขนาดเล็ก ถ้าใช้กลีบใหญ่ที่สุดปลูกจะให้ผลผลิตสูง
*** ปกติกลีบที่มีน้ำหนัก 2 กรัม จะให้ผลผลิตสูง

การปลูกอาจให้น้ำก่อนและใช้กลีบกระเทียมจิ้มลงไปโดยเอาส่วนรากลงลึกประมาณ 2 ใน 3 ส่วนของกลีบ เป็นแถวตามระยะปลูกที่กำหนด ในพื้นที่ 1 ไร่ ต้องใช้หัวพันธุ์ 100 กก. หรือกลีบ 75-80 กก. ปลูกโดยใช้ระยะปลูก 10 x 10 -15 ซม. จะให้ผลผลิตสูงที่สุด สำหรับกระเทียมจีนใช้ระยะปลูก 12-12 ซม. และหัวพันธุ์ 300-350 กก.ต่อไร่ หลังปลูกจะใช้ฟางคลุมแปลงเพื่อควบคุมวัชพืช ที่จะมีขึ้นในระยะแรก เก็บความชื้นและลดความร้อนเวลากลางวัน

การให้น้ำ :
ควรให้น้ำก่อนปลูก และหลังปลูกกระเทียมควรได้รับน้ำอย่างเพียงพอ และสม่ำเสมอในช่วงระหว่างเจริญเติบโต 7-10 วัน/ครั้ง สรุปแล้วจะให้น้ำประมาณ 10 ครั้ง/ฤดู ควรงดการให้น้ำเมื่อกระเทียมแก่จัด ก่อนเก็บเกี่ยว 2-3 สัปดาห์

การคลุมดิน :
หลังปลูกกระเทียมควรคลุมดินด้วยฟางข้าวแห้ง เศษหญ้าแห้ง หรือเศษวัสดุที่สามารถผุพังเน่าเปื่อยอื่น ๆ ทั้งนี้เพื่อควบคุมวัชพืชที่จะมีขึ้นในระยะแรก รักษาความชื้นในดิน ประหยัดในการให้น้ำและลดอุณหภูมิลงในเวลากลางวัน ทำให้กระเทียมสามารถเจริญเติบโตได้ดี

การใส่ปุ๋ย :
ปุ๋ยที่แนะนำให้ใช้สำหรับกระเทียมในบ้านเรา ควรมีส่วนของไนโตรเจนเท่ากับ 1 ส่วน ฟอสฟอรัส 1 ส่วน และโปแตสเซี่ยม 2 ส่วน เช่น ปุ๋ยสูตร 10-10-15, 13-13-21 เป็นต้น อัตราปริมาณ 50-100 กก./ไร่ ขึ้นอยู่กับความอุดมสมบูรณ์ของดิน โดยแบ่งใส่ 2 ครั้ง คือ ครั้งแรกใส่เป็นปุ๋ยรองพื้นตอนปลูก แล้วพรวนกลบลงในดิน ปริมาณครึ่งหนึ่งและใส่ครั้งที่ 2 ใส่แบบหว่านทั่วแปลง เมื่ออายุประมาณ 30 วันหลังปลูก ควรใช้ปุ๋ยเสริมไนโตรเจน เช่น ปุ๋ยยูเรีย แอมโมเนียมซัลเฟต เป็นต้น เพื่อเร่งการเจริญเติบโตในระยะแรก อัตราประมาณ 25-30 กก./ไร่ เมื่ออายุประมาณ 10-14 วันหลังปลูก

การกำจัดวัชพืช :
กระเทียมเป็นพืชที่มีรากตื้น ดังนั้นควรกำจัดวัชพืชในระยะที่วัชพืชเริ่มงอก ถ้าหากปล่อยทิ้งไว้ นอกจากจะแย่งน้ำอาหารและแสงแดดจากกระเทียมแล้ว เมื่อถอนจะทำให้รากของกระเทียมกระเทือนทำให้ชะงักการเจริญเติบโต หรือทำให้ต้นเหี่ยวตายได้ ฉะนั้นเมื่อวัชพืชมี ขนาดใหญ่ควรใช้มีดหรือเสียมมือเล็ก ๆ แซะวัชพืชออก

ส่วนสารเคมีกำจัดวัชพืชที่เกษตรกรในบ้านเรานิยมใช้กันมากคืออะลาคอร์ (ชื่อการค้า = แลสโซ่) อัตรา 0.36-.045 กก.ต่อไร่ (ของเนื้อยาบริสุทธิ์) โดยพ่นคุลมดินหลังปลูกก่อนที่กระเทียมและวัชพืชงอก นอกจากนี้ยังใช้ยาพาราควอซ์ (ชื่อการค้า = กรัมม๊อกโซน) พ่นตามร่องน้ำระหว่างแปลงทุกครั้งหลังจากให้น้ำ

การกำจัดโรค-แมลง :
กระเทียมมีโรค-แมลงรบกวนมากทั้งในระยะที่กำลังเจริญเติบโต ( จะทำให้ผลผลิตลดลงต่ำมาก) และหลังการเก็บเกี่ยว ดังนี้

โรคที่สำคัญของกระเทียม
1.โรคใบเน่า มีเชื้อรา เป็นสาเหตุ
ลักษณะอาการ เริ่มแรกจะมีแผลเกิดขึ้นบนใบกระเทียม ลักษณะเป็นจุดสีเขียวหม่นและขยายออกไปเป็นแผลรูปยาวรี มองเห็นเป็นรอยบุ๋มเล็กน้อย ใบหนึ่ง ๆ อาจมีหลายแผลติดกัน จนใบแห้งและหักพับลงมา ทำให้ใบพืชไม่สามารถปรุงอาหารตามปกติได้ ถ้าเป็นในระยะที่ลงหัว หรือหัวแก่จัด และเกษตรกรเก็บรักษาหัวนั้นไว้ เชื้อโรคนี้อาจจะไปแพร่ระบาดในโรงเก็บได้

การป้องกันกำจัด
- เก็บส่วนใบที่เป็นแผลทิ้ง หรือเผาไฟ
- พ่นสารเคมี เช่น ไดโฟล่แทน หรือไดเทน-เอ็ม-45 ทุก 7 วัน ถ้าเป็นมากควรพ่นให้ถี่ขึ้นเป็น 3-5 วัน หรือเพิ่มความเข้มข้นของยาเป็น 2 เท่า

2. โรคใบจุดสีม่วง มีเชื้อรา เป็นสาเหตุ
ลักษณะอาการ เกิดกับใบกระเทียม เริ่มแรกจะมีแผลหรือจุดสีขาวก่อน และจะขยายใหญ่เป็นแผลรูปยาวรี สีน้ำตาลอ่อนหรือม่วง ขอบแผลสีน้ำตาลเข้มหรือเหลือง แผลมีทั้งขนาดใหญ่และเล็ก ในแต่ละใบอาจมีมากกว่า 1 แผล ทำความเสียหายแก่กระเทียมเช่นเดียวกับโรคใบเน่า และสามารถทำลายได้ทุกระยะการเจริญเติบโต มีการเก็บเกี่ยวก่อนกำหนด หัวกระเทียมที่ได้ไม่แก่จัด ไม่เหมาะที่จะใช้ทำพันธุ์และทำให้ผลผลิตต่อไร่ลดลง

การป้องกันกำจัด คล้าย ๆ กับโรคใบเน่า และเฉพาะโรคชนิดนี้งดใช้ยากันราประเภทดูดซึมพวกเบนเลท
** นอกจากนี้ก็มีโรคราน้ำค้าง ราดำ หัวและรากเน่าคอดินและเน่าเละ เป็นต้น

แมลงศัตรูที่สำคัญ :
1. ไรขาวหรือไรหอมกระเทียม
ลักษณะอาการ เป็นแมลงตัวเล็ก ๆ มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า ดูดกินน้ำเลี้ยงตามใบพืช ทั้งอ่อนและแก่ สามารถเจริญเติบโตและแพร่ขยายอย่างรวดเร็วในสภาพอากาศที่ค่อนข้างแห้งแล้งในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ ทำให้ใบและยอดอ่อนของกระเทียม มีอาการ หงิก งอ ม้วนตัวแน่น ไม่คลี่ยาวเหยียดไป และจะระบาดรวดเร็วมากในไม่ช้า ใบก็จะเริ่มมีลายสีเขียวอ่อนและขาว จนในที่สุดเป็นสีเหลืองฟางข้าวและใบแห้งเหี่ยวคล้ายใบไหม้
การป้องกันกำจัด
- หมั่นตรวจดูแปลงกระเทียม ถ้าพบว่ากระเทียมแสดงอาการดังกล่าวให้รีบถอนทิ้ง
- ฉีดพ่นยาฆ่าแมลงพวก พอสซ์ หรือโตกุไธออน ทุก 3 วันต่อครั้ง ประมาณ 4-5 ครั้ง จนแน่ใจว่าหยุดลุกลาม จึงฉีดยาให้มีระยะห่างได้

2.เพลี้ยไฟหอม
ลักษณะอาการ ลำตัวขนาดยาว 1-1.2 มม. ตัวอ่อนสีน้ำตาลอ่อนถึงเขียว ตัวแก่สีเหลืองซีดถึงน้ำตาลอ่อน ทำลายกระเทียมโดยดูดกินน้ำเลี้ยงที่ใบ ทำให้เป็นจุดสีขาวซีด บางครั้งเป็นจุดลึกลงไปทำให้ใบซีดขาวและเหี่ยวแห้ง

การเก็บเกี่ยว : ลักษณะการแก่จัดของกระเทียม สามารถสังเกตได้ดังนี้
- มีตุ่มหรือหัวขนาดเล็ก ๆ เกิดขึ้นที่ลำต้นของกระเทียมตั้งแต่ 1 ตุ่มขึ้นไป
- ส่วนของยอดเจริญขึ้นมาหมดแล้วและกำลังมีต้นดอกชูขึ้นมา
- ใบกระเทียม เริ่มแห้งตั้งแต่ปลายใบลงมามากกว่า 30%
- ใบหรือต้นกระเทียม เอนหัก ล้มนอนไปกับพื้นดิน 25 % ขึ้นไป
- ดอก หรือโคนลำค้น บีบดูจะรู้สึกอ่อนนิ่ม

ถ้าพบลักษณะดังกล่าว ให้เริ่มถอนกระเทียมได้ โดยทั่วไปกระเทียมจะมีอายุการเก็บเกี่ยวประมาณ 100-120 วันหลังปลูกหรือเมื่อถึงระยะเวลาเก็บเกี่ยวใบจะแห้ง ถ้าเก็บเกี่ยวช้าเกินไปจะทำให้กลีบร่วงได้ง่ายและได้กระเทียมที่มีคุณภาพไม่ดี

วิธีเก็บเกี่ยว คือ ถอนและตากแดดในแปลงประมาณ 2-3 ชั่วโมง โดยวางสลับกันให้ใบคลุมหัวเพื่อป้องกันไม่ให้ถูกแสงแดด โดยตรง ตากไว้ 2-3 วัน ระวังอย่าให้ถูกฝนและน้ำค้างแรงในเวลากลางคืน นำมาผึ่งลมในที่ร่มสักระยะหนึ่ง ประมาณ 5-7 วัน ให้หัวและใบแห้งดี หลังจากนั้นนำมาคัดขนาดและมัดจุกตามต้องการ

การเก็บรักษา :
กระเทียมที่มัดจุกไว้นำไปแขวนไว้ในเรือนโรงเปิดฝาทั้ง 4 ด้าน หรือใต้ถุนบ้านที่มีการถ่านเทอากาศดี ไม่ถูกฝน หรือน้ำค้าง รวมทั้งแสงแดด ประมาณ 3-4 สัปดาห์ จะทำให้กระเทียมแห้งสนิท คุณภาพดี จึงนำลงมากองสุ่มรวมกันเพื่อเก็บรักษาหรือขายต่อไป กระเทียมหลังจากเก็บ 5-6 เดือน จะสูญเสียน้ำหนักไปประมาณ 30% ถ้าหากเก็บข้ามปีจะมีส่วนสูญเสีย 60-70%

การเก็บพันธุ์ไว้ใช้เอง :
เลือกคัดเอาหัวที่มีลักษณะรูปทรงของพันธุ์ดี สมบูรณ์ปราศจากโรคและแมลงทำลาย และแก่เต็มที่แล้ว โดยทั่วไปนิยมคัดหัวที่มีขนาดกลาง มีกลีบประมาณ 3-6 กลีบ นำมาผึ่งในที่ร่มจนแห้งดี ทำการมัดรวมกันแล้วแขวนไว้ในที่ร่มมีลมพัดผ่าน การถ่ายเทอากาศดี ไม่ควรแกะกระเทียมเป็นกลีบ ๆ ขณะเก็บรักษาเพราะจะทำให้ผลผลิตลดลง เมื่อแกะแล้วควรจะนำไปใช้ปลูกทันที

กระเทียมจะมีระยะพักตัวประมาณ 5-6 เดือน ถ้าสภาพอากาศเหมาะสมกระเทียมจะงอกได้ตั้งแต่เดือนกันยายนเป็นต้นไป กระเทียมที่เก็บรักษาไว้จะต้องนำปลูกก่อนเดือนกุมภาพันธุ์ถ้าหากไม่นำลงปลูกจะฝ่อเสียหาย หรืองอกทั้งหมด.

ขอขอบคุณข้อมูลจาก :
ฝ่ายส่งเสริมการเกษตร สำนักวิจัยและส่งเสริมวิชาการการเกษตร
มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จ.เชียงใหม่ 50290 โทร. 053-873938-9
http://www.it.mju.ac.th/

ที่มา : http://www.rakbankerd.com/agriculture/open.php?id=1192&s=tblplant

ตัดภาพให้เป็นวงกลม (Photoshop)

ตัดภาพให้เป็นวงกลม (Photoshop)


เรามาเริ่มต้นจากเมื่อเปิดภาพที่ต้องการ ในโปรแกรม Photoshpo กันเลยนะครับ

1. เลือกเครื่องมือ Elliptieal Marquee Tool (M)
2. เลือก Feather บนแถบเครื่องมือ ว่าต้องการให้ขอบของภาพคมชัดหรือมีความเบลอ(ฟุ้ง)ขนาดไหน


3. คลิกปุ่มซ้ายของเมาส์ค้างไว้ แล้วลากจากซ้ายบนลงขวาล่าง บนภาพตรงส่วนที่ต้องการ โดยหากต้องการให้เป็นรูปวงกลม ให้กด Shift ค้างไว้พร้อมกับลากเมาส์ สำหรับวงรีให้ลากเมาส์ได้ตามต้องการ
4. บนแถบเครื่องมือ คลิกเลือก Select / Inverse หรือ Shift+Ctrl+I ก็ได้


5. เสร็จแล้ว กด Delete



6. เพื่อเก็บรายละเอียด เลือกเครื่องมือ Crop Tool (C) แล้วคลิกเมาส์ซ้ายค้างไว้ ลากจากมุมซ้ายลงมาขวาล่าง ให้ล้อมรอบภาพในส่วนที่ต้องการ

7. กด Enter ก็จะได้ภาพที่ตัดเป็นรูปวงกลมตามต้องการนะครับ


ถ้าไม่เข้าใจหรืองงตรงไหน ก็คอมเม้นท์มาได้นะครับ...