01 ธันวาคม 2552

การปลูกกระเทียม

การปลูกกระเทียม โดย ผศ. ประสิทธิ์ โนรี

กระเทียม มีชื่อเรียกหลายอย่าง เช่น กระเทียมจีน(ทั่วไป),กระเทียมขาว, หอมขาว (อุดรธานี),กระเทียมหัวเทียม(คาบสมุทร)และหอมเตียม(ภาคเหนือ) เป็นต้น เป็นพืชผักอายุหลายปี แต่นำมาปลูกเป็นผักอายุปีเดียว มีกำเนิดอยู่ในแถวเอเชียกลาง สันนิษฐานว่าเป็นพืชดั้งเดิมของจีนและอินเดีย รู้จักและนำมาใช้ประโยชน์ตั้งแต่ครั้งดึกดำบรรพ์ มีบันทึกกล่าวว่าชาวโรมันไม่ชอบกระเทียม เนื่องจากมีกลิ่นแรง แต่จะใช้ประกอบอาหารสำหรับทหารและทาส

กระเทียมอยู่ในตระกูลเดียวกับหอมหัวใหญ่ หอมแดง หอมแบ่ง และ กุ่ยฉ่าย โดยกระเทียมจะสร้างกลีบหลาย ๆ กลีบและถูกห่อหุ้มรวมกันอยู่ใต้เปลือก ซึ่งมีลักษณะบางสีขาวหรือชมพู หุ้มให้เป็นตัวเดียว ใบเป็น ใบเลี้ยงเดี่ยว และแบน สามารถออกดอกและให้เมล็ดได้ นิยมขยายพันธุ์ด้วยกลีบเพราะให้ผลดีกว่า กระเทียมจะมีคุณค่าทางอาหารต่ำ เมื่อเปรียบเทียบกับพืชผักอื่น ๆ แต่อาหารบางชนิดจะหมดรสชาติ ถ้าหากขาดกระเทียม โดยเฉพาะผู้ที่นิยมรสและกลิ่นของกระเทียม นอกจากนี้ยังใช้เป็นยาสมุนไพรรักษาแผล หลอดลมอักเสบ ไอ ท้องอืด เฟ้อ อาหารไม่ย่อย โรคผิวหนังบางประเภท และความดันโลหิตสูง


กระเทียบเป็นพืชผักประเภทเนื้ออ่อนขนาดเล็ก มีอายุประมาณ 75-180 วัน ปกติเจริญเติบโตได้ดีในอากาศเย็นอุณหภูมิที่เหมาะสมอยู่ระหว่าง 12-22 องศาเซลเซียส ช่วงแสงแดดยาวประมาณ 9-11 ชั่วโมงต่อวัน มีระยะการพักตัวเช่นเดียวกับพืชตระกูลหอมทั่ว ๆ ไป ประมาณ 5-6 เดือน ถ้าหากเก็บรักษานานกว่านี้ จะเริ่มฝ่อหรืองอก โดยในปีแรกกระเทียมจะฝ่อเสียหายประมาณ 60-70%

กระเทียมที่ใช้เป็นอาหารมีอยู่ 2 ประเภท :
1. กระเทียมต้น ไม่มีหัว ปลูกโดยใช้เมล็ดพันธุ์ เพื่อรับประทานลำต้นและใบเป็นพืชผักสดเท่านั้น
2. กระเทียมหัว ปลูกด้วยกลีบหรือหัวพันธุ์ มีหลายพันธุ์ ซึ่งมาจากแหล่งต่าง ๆ กันมีอายุยาวนานกว่าประเภทแรก

พันธุ์ที่ใช้ปลูก :
ภาคเหนือนิยมปลูกพันธุ์พื้นเมืองเชียงใหม่ เชียงรายและพม่า ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือนิยมปลูกพันธุ์พื้นเมืองศรีสะเกษ และภาคกลางนิยมปลูกพันธุ์บางช้าง และพันธุ์จีน หรือไต้หวัน

พันธุ์ที่ปลูกในบ้านเรา : สามารถแบ่งได้ตามอายุการแก่เก็บเกี่ยวได้ ดังนี้
1.พันธุ์เบาหรือพันธุ์ขาวเมือง ลักษณะใบแหลม ลำต้นแข็ง กลีบเท่าหัวแม่มือ กลีบและหัวสีขาว มีกลิ่นฉุนและรสจัด อายุแก่เก็บเกี่ยวประมาณ 75-90 วัน เช่น พันธุ์พื้นเมืองศรีสะเกษ เป็นต้น
2.พันธุ์กลาง ลักษณะใบเล็กและยาว ลำต้นใหญ่ และแข็ง หัวขนาดกลาง หัวและกลีบสีม่วง อายุแก่เก็บเกี่ยวประมาณ 90-120 วัน นิยมปลูกมากในภาคเหนือ เช่นพันธุ์พื้นเมืองเชียงใหม่ เป็นต้น
3.พันธุ์หนัก ลักษณะใบกว้างและยาว ลำต้นเล็ก หัวใหญ่ กลีบโต เปลือกหุ้มสีชมพู น้ำหนักดี อายุแก่เก็บเกี่ยวประมาณ 150 วัน เช่น พันธุ์จีน หรือไต้หวัน เป็นต้น

แหล่งเพาะปลูก :
กระเทียมสามารถเพาะปลูกได้เกือบทุกภาคของประเทศแต่เหมาะที่จะปลูกในแปลงที่เป็นดินร่วน หรือระบายน้ำได้ดีและมีอุณหภูมิอากาศค่อนข้างหนาวเย็น เป็นระยะเวลายาวนานหลายเดือน ดังนั้นบริเวณเพาะปลูกกระเทียมที่สำคัญของไทย ส่วนใหญ่จึงอยู่ทางภาคเหนือตอนบน ที่สำคัญได้แก่จังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน เชียงราย แม่ฮ่องสอน พะเยา น่าน แพร่ ลำปาง และอุตรดิตถ์ นอกจากนี้มีเพาะปลูกข้างทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น ศรีสะเกษและบุรีรัมย์

ระยะเวลาเพาะปลูก : การเพาะปลูกกระเทียมส่วนใหญ่ จะปลูก 2 ช่วง คือ
1.เพาะปลูกช่วงเดือนตุลาคมถึงเดือนพฤศจิกายนและเก็บเกี่ยวเดือนมกราคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ อายุประมาณ 75-90 วันกระเทียมรุ่นนี้เรียกว่ากระเทียมดอ หรือกระเทียมเบา นิยมใช้ทำกระเทียมดอง ไม่สามารถเก็บไว้ได้นาน เพราะฝ่อเร็ว
2.เพาะปลูกช่วงเดือนธันวาคมถึงเดือนมกราคม หลังการเก็บเกี่ยวข้าวและเก็บเกี่ยวเดือนมีนาคมถึงเดือนเมษายน อายุประมาณ 90-120 วัน เรียกว่ากระเทียมปี ใช้ทำกระเทียมแห้งเพราะสามารถเก็บไว้ได้นาน

การเตรียมดินปลูก :
ดินที่เหมาะสมสำหรับการปลูกกระเทียม ควรเป็นดินที่ร่วนซุย ระบายน้ำได้ดี ถ้าดินเป็นกรดจัดจะทำให้กระเทียมไม่เจริญ ควรใส่ปูนขาวก่อนปลูกอย่างน้อย 15 วัน เพื่อปรับสภาพดินให้เป็นกรดอ่อน ๆ(pH 5.5-6.8)ก่อนไถควรหว่านปุ๋ยคอกก่อนประมาณ 4 ตันต่อไร ถ้าเป็นดินเหนียวควรใช้ไถบุกเบิกก่อนพรวน ถ้าเป็นดินร่วนใช้เฉพาะพรวนและยกแปลงเพื่อการให้น้ำและระบายน้ำได้ดี
** การเตรียมดินดีจะช่วยให้กระเทียมลงหัวดีและควรเตรียมแปลงปลูกขนาดกว้าง 1 - 2.5 เมตร ความยาวตามพื้นที่ปลูกระยะห่างระหว่างแปลง (ทางเดินหรือร่องน้ำ) ควรกว้าง 50 ซม.

การปลูกกระเทียม :
* กระเทียมปลูกโดยใช้กลีบซึ่งประกอบเป็นหัว นิยมใช้กลีบนอกปลูก เนื่องจากกลีบนอกมีขนาดใหญ่ จะให้กระเทียมที่มีหัวใหญ่และผลผลิตสูง การนำกระเทียมไปปลูกในฤดูฝน จะทำให้กระเทียมงอกไม่พร้อมกัน โตไม่สม่ำเสมอกัน
** ขนาดของกลีบจะมีอิทธิพลหรือความสำคัญ ต่อการลงหัวของกระเทียม จากการศึกษาพบว่าพันธุ์ที่มีกลีบใหญ่ ถ้าหากใช้กลีบขนาดกลางปลูกจะทำให้ผลผลิตสูง พันธุ์ที่มีกลีบขนาดเล็ก ถ้าใช้กลีบใหญ่ที่สุดปลูกจะให้ผลผลิตสูง
*** ปกติกลีบที่มีน้ำหนัก 2 กรัม จะให้ผลผลิตสูง

การปลูกอาจให้น้ำก่อนและใช้กลีบกระเทียมจิ้มลงไปโดยเอาส่วนรากลงลึกประมาณ 2 ใน 3 ส่วนของกลีบ เป็นแถวตามระยะปลูกที่กำหนด ในพื้นที่ 1 ไร่ ต้องใช้หัวพันธุ์ 100 กก. หรือกลีบ 75-80 กก. ปลูกโดยใช้ระยะปลูก 10 x 10 -15 ซม. จะให้ผลผลิตสูงที่สุด สำหรับกระเทียมจีนใช้ระยะปลูก 12-12 ซม. และหัวพันธุ์ 300-350 กก.ต่อไร่ หลังปลูกจะใช้ฟางคลุมแปลงเพื่อควบคุมวัชพืช ที่จะมีขึ้นในระยะแรก เก็บความชื้นและลดความร้อนเวลากลางวัน

การให้น้ำ :
ควรให้น้ำก่อนปลูก และหลังปลูกกระเทียมควรได้รับน้ำอย่างเพียงพอ และสม่ำเสมอในช่วงระหว่างเจริญเติบโต 7-10 วัน/ครั้ง สรุปแล้วจะให้น้ำประมาณ 10 ครั้ง/ฤดู ควรงดการให้น้ำเมื่อกระเทียมแก่จัด ก่อนเก็บเกี่ยว 2-3 สัปดาห์

การคลุมดิน :
หลังปลูกกระเทียมควรคลุมดินด้วยฟางข้าวแห้ง เศษหญ้าแห้ง หรือเศษวัสดุที่สามารถผุพังเน่าเปื่อยอื่น ๆ ทั้งนี้เพื่อควบคุมวัชพืชที่จะมีขึ้นในระยะแรก รักษาความชื้นในดิน ประหยัดในการให้น้ำและลดอุณหภูมิลงในเวลากลางวัน ทำให้กระเทียมสามารถเจริญเติบโตได้ดี

การใส่ปุ๋ย :
ปุ๋ยที่แนะนำให้ใช้สำหรับกระเทียมในบ้านเรา ควรมีส่วนของไนโตรเจนเท่ากับ 1 ส่วน ฟอสฟอรัส 1 ส่วน และโปแตสเซี่ยม 2 ส่วน เช่น ปุ๋ยสูตร 10-10-15, 13-13-21 เป็นต้น อัตราปริมาณ 50-100 กก./ไร่ ขึ้นอยู่กับความอุดมสมบูรณ์ของดิน โดยแบ่งใส่ 2 ครั้ง คือ ครั้งแรกใส่เป็นปุ๋ยรองพื้นตอนปลูก แล้วพรวนกลบลงในดิน ปริมาณครึ่งหนึ่งและใส่ครั้งที่ 2 ใส่แบบหว่านทั่วแปลง เมื่ออายุประมาณ 30 วันหลังปลูก ควรใช้ปุ๋ยเสริมไนโตรเจน เช่น ปุ๋ยยูเรีย แอมโมเนียมซัลเฟต เป็นต้น เพื่อเร่งการเจริญเติบโตในระยะแรก อัตราประมาณ 25-30 กก./ไร่ เมื่ออายุประมาณ 10-14 วันหลังปลูก

การกำจัดวัชพืช :
กระเทียมเป็นพืชที่มีรากตื้น ดังนั้นควรกำจัดวัชพืชในระยะที่วัชพืชเริ่มงอก ถ้าหากปล่อยทิ้งไว้ นอกจากจะแย่งน้ำอาหารและแสงแดดจากกระเทียมแล้ว เมื่อถอนจะทำให้รากของกระเทียมกระเทือนทำให้ชะงักการเจริญเติบโต หรือทำให้ต้นเหี่ยวตายได้ ฉะนั้นเมื่อวัชพืชมี ขนาดใหญ่ควรใช้มีดหรือเสียมมือเล็ก ๆ แซะวัชพืชออก

ส่วนสารเคมีกำจัดวัชพืชที่เกษตรกรในบ้านเรานิยมใช้กันมากคืออะลาคอร์ (ชื่อการค้า = แลสโซ่) อัตรา 0.36-.045 กก.ต่อไร่ (ของเนื้อยาบริสุทธิ์) โดยพ่นคุลมดินหลังปลูกก่อนที่กระเทียมและวัชพืชงอก นอกจากนี้ยังใช้ยาพาราควอซ์ (ชื่อการค้า = กรัมม๊อกโซน) พ่นตามร่องน้ำระหว่างแปลงทุกครั้งหลังจากให้น้ำ

การกำจัดโรค-แมลง :
กระเทียมมีโรค-แมลงรบกวนมากทั้งในระยะที่กำลังเจริญเติบโต ( จะทำให้ผลผลิตลดลงต่ำมาก) และหลังการเก็บเกี่ยว ดังนี้

โรคที่สำคัญของกระเทียม
1.โรคใบเน่า มีเชื้อรา เป็นสาเหตุ
ลักษณะอาการ เริ่มแรกจะมีแผลเกิดขึ้นบนใบกระเทียม ลักษณะเป็นจุดสีเขียวหม่นและขยายออกไปเป็นแผลรูปยาวรี มองเห็นเป็นรอยบุ๋มเล็กน้อย ใบหนึ่ง ๆ อาจมีหลายแผลติดกัน จนใบแห้งและหักพับลงมา ทำให้ใบพืชไม่สามารถปรุงอาหารตามปกติได้ ถ้าเป็นในระยะที่ลงหัว หรือหัวแก่จัด และเกษตรกรเก็บรักษาหัวนั้นไว้ เชื้อโรคนี้อาจจะไปแพร่ระบาดในโรงเก็บได้

การป้องกันกำจัด
- เก็บส่วนใบที่เป็นแผลทิ้ง หรือเผาไฟ
- พ่นสารเคมี เช่น ไดโฟล่แทน หรือไดเทน-เอ็ม-45 ทุก 7 วัน ถ้าเป็นมากควรพ่นให้ถี่ขึ้นเป็น 3-5 วัน หรือเพิ่มความเข้มข้นของยาเป็น 2 เท่า

2. โรคใบจุดสีม่วง มีเชื้อรา เป็นสาเหตุ
ลักษณะอาการ เกิดกับใบกระเทียม เริ่มแรกจะมีแผลหรือจุดสีขาวก่อน และจะขยายใหญ่เป็นแผลรูปยาวรี สีน้ำตาลอ่อนหรือม่วง ขอบแผลสีน้ำตาลเข้มหรือเหลือง แผลมีทั้งขนาดใหญ่และเล็ก ในแต่ละใบอาจมีมากกว่า 1 แผล ทำความเสียหายแก่กระเทียมเช่นเดียวกับโรคใบเน่า และสามารถทำลายได้ทุกระยะการเจริญเติบโต มีการเก็บเกี่ยวก่อนกำหนด หัวกระเทียมที่ได้ไม่แก่จัด ไม่เหมาะที่จะใช้ทำพันธุ์และทำให้ผลผลิตต่อไร่ลดลง

การป้องกันกำจัด คล้าย ๆ กับโรคใบเน่า และเฉพาะโรคชนิดนี้งดใช้ยากันราประเภทดูดซึมพวกเบนเลท
** นอกจากนี้ก็มีโรคราน้ำค้าง ราดำ หัวและรากเน่าคอดินและเน่าเละ เป็นต้น

แมลงศัตรูที่สำคัญ :
1. ไรขาวหรือไรหอมกระเทียม
ลักษณะอาการ เป็นแมลงตัวเล็ก ๆ มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า ดูดกินน้ำเลี้ยงตามใบพืช ทั้งอ่อนและแก่ สามารถเจริญเติบโตและแพร่ขยายอย่างรวดเร็วในสภาพอากาศที่ค่อนข้างแห้งแล้งในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ ทำให้ใบและยอดอ่อนของกระเทียม มีอาการ หงิก งอ ม้วนตัวแน่น ไม่คลี่ยาวเหยียดไป และจะระบาดรวดเร็วมากในไม่ช้า ใบก็จะเริ่มมีลายสีเขียวอ่อนและขาว จนในที่สุดเป็นสีเหลืองฟางข้าวและใบแห้งเหี่ยวคล้ายใบไหม้
การป้องกันกำจัด
- หมั่นตรวจดูแปลงกระเทียม ถ้าพบว่ากระเทียมแสดงอาการดังกล่าวให้รีบถอนทิ้ง
- ฉีดพ่นยาฆ่าแมลงพวก พอสซ์ หรือโตกุไธออน ทุก 3 วันต่อครั้ง ประมาณ 4-5 ครั้ง จนแน่ใจว่าหยุดลุกลาม จึงฉีดยาให้มีระยะห่างได้

2.เพลี้ยไฟหอม
ลักษณะอาการ ลำตัวขนาดยาว 1-1.2 มม. ตัวอ่อนสีน้ำตาลอ่อนถึงเขียว ตัวแก่สีเหลืองซีดถึงน้ำตาลอ่อน ทำลายกระเทียมโดยดูดกินน้ำเลี้ยงที่ใบ ทำให้เป็นจุดสีขาวซีด บางครั้งเป็นจุดลึกลงไปทำให้ใบซีดขาวและเหี่ยวแห้ง

การเก็บเกี่ยว : ลักษณะการแก่จัดของกระเทียม สามารถสังเกตได้ดังนี้
- มีตุ่มหรือหัวขนาดเล็ก ๆ เกิดขึ้นที่ลำต้นของกระเทียมตั้งแต่ 1 ตุ่มขึ้นไป
- ส่วนของยอดเจริญขึ้นมาหมดแล้วและกำลังมีต้นดอกชูขึ้นมา
- ใบกระเทียม เริ่มแห้งตั้งแต่ปลายใบลงมามากกว่า 30%
- ใบหรือต้นกระเทียม เอนหัก ล้มนอนไปกับพื้นดิน 25 % ขึ้นไป
- ดอก หรือโคนลำค้น บีบดูจะรู้สึกอ่อนนิ่ม

ถ้าพบลักษณะดังกล่าว ให้เริ่มถอนกระเทียมได้ โดยทั่วไปกระเทียมจะมีอายุการเก็บเกี่ยวประมาณ 100-120 วันหลังปลูกหรือเมื่อถึงระยะเวลาเก็บเกี่ยวใบจะแห้ง ถ้าเก็บเกี่ยวช้าเกินไปจะทำให้กลีบร่วงได้ง่ายและได้กระเทียมที่มีคุณภาพไม่ดี

วิธีเก็บเกี่ยว คือ ถอนและตากแดดในแปลงประมาณ 2-3 ชั่วโมง โดยวางสลับกันให้ใบคลุมหัวเพื่อป้องกันไม่ให้ถูกแสงแดด โดยตรง ตากไว้ 2-3 วัน ระวังอย่าให้ถูกฝนและน้ำค้างแรงในเวลากลางคืน นำมาผึ่งลมในที่ร่มสักระยะหนึ่ง ประมาณ 5-7 วัน ให้หัวและใบแห้งดี หลังจากนั้นนำมาคัดขนาดและมัดจุกตามต้องการ

การเก็บรักษา :
กระเทียมที่มัดจุกไว้นำไปแขวนไว้ในเรือนโรงเปิดฝาทั้ง 4 ด้าน หรือใต้ถุนบ้านที่มีการถ่านเทอากาศดี ไม่ถูกฝน หรือน้ำค้าง รวมทั้งแสงแดด ประมาณ 3-4 สัปดาห์ จะทำให้กระเทียมแห้งสนิท คุณภาพดี จึงนำลงมากองสุ่มรวมกันเพื่อเก็บรักษาหรือขายต่อไป กระเทียมหลังจากเก็บ 5-6 เดือน จะสูญเสียน้ำหนักไปประมาณ 30% ถ้าหากเก็บข้ามปีจะมีส่วนสูญเสีย 60-70%

การเก็บพันธุ์ไว้ใช้เอง :
เลือกคัดเอาหัวที่มีลักษณะรูปทรงของพันธุ์ดี สมบูรณ์ปราศจากโรคและแมลงทำลาย และแก่เต็มที่แล้ว โดยทั่วไปนิยมคัดหัวที่มีขนาดกลาง มีกลีบประมาณ 3-6 กลีบ นำมาผึ่งในที่ร่มจนแห้งดี ทำการมัดรวมกันแล้วแขวนไว้ในที่ร่มมีลมพัดผ่าน การถ่ายเทอากาศดี ไม่ควรแกะกระเทียมเป็นกลีบ ๆ ขณะเก็บรักษาเพราะจะทำให้ผลผลิตลดลง เมื่อแกะแล้วควรจะนำไปใช้ปลูกทันที

กระเทียมจะมีระยะพักตัวประมาณ 5-6 เดือน ถ้าสภาพอากาศเหมาะสมกระเทียมจะงอกได้ตั้งแต่เดือนกันยายนเป็นต้นไป กระเทียมที่เก็บรักษาไว้จะต้องนำปลูกก่อนเดือนกุมภาพันธุ์ถ้าหากไม่นำลงปลูกจะฝ่อเสียหาย หรืองอกทั้งหมด.

ขอขอบคุณข้อมูลจาก :
ฝ่ายส่งเสริมการเกษตร สำนักวิจัยและส่งเสริมวิชาการการเกษตร
มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จ.เชียงใหม่ 50290 โทร. 053-873938-9
http://www.it.mju.ac.th/

ที่มา : http://www.rakbankerd.com/agriculture/open.php?id=1192&s=tblplant

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น